กรณีอื้อฉาวล่อซื้อน้ำส้ม

เรียน บรรณาธิการน.ส.พ.ข่าวสด

จะใช้คำว่า “รีดนาทาเร้น” หรือว่า “ตบทรัพย์” ดี ในกรณีล่อซื้อน้ำส้มคั้น ขอเอ่ยแบบพื้นๆ ไม่ต้องลงลึกไปถึงด้านกฎหมาย เริ่มจากเป็นคนทำมาหากิน ไม่ได้ค้ายาเสพติด ไม่ได้ลอกเลียนแบบสินค้า ไม่ได้เปิดเพลงลิขสิทธิ์ให้ลูกค้าฟัง แล้วเหตุใดต้องล่อซื้อแบบสั่งทำ ขอเน้นคำว่า “สั่งให้ทำ” แล้วไปจับ

การกระทำอย่างนี้มันเกินไป สภาพเศรษฐกิจอย่างนี้หากินลำบาก กว่าจะได้แต่ละบาทมันเหนื่อยนะ ชาวบ้านทำมาหากินแบบสุจริตดีแล้ว ไม่ได้ค้ายา ไม่ได้ตั้งบ่อน ชาวบ้านดิ้นรนหาเลี้ยงตัวให้มีชีวิตอยู่รอดนับว่าเป็นสิ่งดีควรสนับสนุน อย่าเอาประเทศไทยไปเปรียบกับอเมริกา ที่จะทำหากินเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องขออนุญาตรัฐ บ้านเรายังไม่เจริญและพัฒนาเท่าเขา ทำอะไรออกมาขายได้ก็เอามาขายเป็นรายได้เลี้ยงชีพ

ส่วนเจ้าของร้านที่ระบุว่าโอนเงินให้ลูกจ้าง เพื่อนำไปให้ผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ การทำธุรกรรมไม่ว่าจะผ่านโมบายแบงกิ้ง หรือโอนผ่านบัตรเอทีเอ็ม ทุกอย่างมีหลักฐาน ก็นำมาแสดงให้เห็นว่าโอนจริง ให้จริง เพื่อย้ำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ด้วยความเคารพ

บังหุ่ง

ตอบ บังหุ่ง

มุมมองของคุณ เป็นเสียงสะท้อนของชาวบ้านในภาวะเศรษฐกิจยากลำบากได้เป็นอย่างดี ไม่ควรใช้กฎหมาย เอาเป็นเอาตายกับคนที่พยายามหากินโดยไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ค้ายาเสพติด เอาเป็นว่าเรื่องนี้หลังจากมีข่าวอื้อฉาว อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้เซ็นคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่กลุ่ม ดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อจริงเกี่ยวกับ เรื่องราวดังกล่าวแล้ว รอฟังกันต่อไป

 

ทุกข์ของชาวตำบลอ่าวน้อย

เรียน บ.ก.

ชาวบ้านหมู่ 2 ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอความคืบหน้าเรื่องสร้างเขื่อนกันคลื่นป้องกันการ กัดเซาะตรงบริเวณชายหาดอ่าวน้อย ที่ได้รับผลกระทบ มีบ้านเรือนประชาชน โรงแรมที่อยู่ติดกับชายหาด จำนวน 30 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม และรับจ้างรายวัน ล้วนแต่อยู่กันมายาวนานตั้งรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เดิมชายหาดอ่าวน้อยมีความยาวกว่า 30 เมตร แต่ระยะหลังสภาพอากาศส่งผลให้มีคลื่นลมรุนแรง และน้ำทะเลกัดเซาะหาดทรายมากขึ้นทุกวัน กระทั่งหลังสุด น้ำทะเลซัดถึงขอบบ้าน และกัดเซาะนำทรายลงทะเล บางบ้านเหลือระยะห่างบ้านกับชายหาดเพียง 2 เมตร หากไม่มีการป้องกันจะทำให้น้ำทะเลกัดเซาะถึงบ้านและทรุดตัว ในที่สุด ชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณที่แห่งนี้ตลอดทั้งปี ในช่วงหน้ามรสุม คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคมของทุกปี ระดับน้ำทะเลสูงและรุนแรง ที่ผ่านมานั้นหน่วยงานของรัฐก็เข้ามาทำประชาพิจารณ์และทำอีไอเอแล้ว แต่ทำไมยังไม่มีวี่แววในการก่อสร้างเขื่อน ชาวบ้านประสบปัญหากันทุกวันซึ่งต่างจากผู้ที่มาพักผ่อนยามหน้าร้อนหรือมาซื้อที่ดินทิ้งไว้ ไม่ได้มาประสบกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านว่าอยู่กันอย่างไร ทุกครั้งที่มีพายุเข้าในหน้ามรสุม น้ำทะเลรุนแรง หลายครัวเรือนที่อยู่อย่างเครียดเพราะบ้านติดทะเล หวั่นว่าบ้านจะทรุดจมหายไปกับคลื่น

ริมเล

ตอบ คุณริมเล

หน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้น่าจะช่วยอธิบายข้อสงสัยว่าหลังทำประชาพิจารณ์และอีไอเอแล้ว ยังมีเหตุผลอะไรส่วนอื่นอีกหรือไม่ ประกอบการพิจารณา สำหรับการแก้ปัญหาชายหาดที่โดนคลื่นกัดเซาะรุนแรง

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน