คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย

ผู้นำกองทัพไทยควรดูเมียนมา / ชาวนางรองต้านทางแยกต่างระดับ

ผู้นำกองทัพไทยควรดูเมียนมา

เรียน บ.ก.ข่าวสด

เห็นข่าวทหารเมียนมาปะทะกับกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็มยู ในพื้นที่จังหวัดเมียวดี ทำให้ชาวบ้านนับพันต้องอพยพ หลบหนีภัยการสู้รบ ทะลักข้ามแดนเข้ามายังด้านแม่สอด จ.ตาก ของไทยเรา เห็นแล้วน่าเศร้าสลดใจ บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยก ไม่ยอมปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแท้จริง ซึ่งเป็นระบบการเมืองที่กระจายผลประโยชน์ ไม่ใช่ผูกขาดเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจ

แต่หลังจากกองกำลังทหารพม่าก่อรัฐประหารยึดอำนาจจาก ออง ซาน ซู จี ตั้งแต่เมื่อตอนต้นปี ประเทศเมียนมาก็กลับไปสู่ความ ขัดแย้งรุนแรง ประชาชนประท้วงไปทั่ว โดนทหารไล่ยิงตายเกลื่อน ทำให้คนหนุ่มสาวตัดสินใจเข้าป่าไปฝึกอาวุธกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

คราวนี้สงครามระหว่างกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อยก็เริ่มดุเดือดขึ้นมาอีก เพราะประชาชนและนักศึกษา มาร่วมมือกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อย คราวนี้สงครามเลยร้อนระอุ รบพุ่งกันเสียจนชาวบ้านต้องหลบหนีภัยสงครามจ้าละหวั่น อันที่จริงเหตุการณ์ในเมียนมาน่าจะเป็นเครื่องเตือนสติกลุ่มอำนาจในประเทศไทย เพราะอันที่จริงถ้านับจากปี 2549 มา เรามีการยึดอำนาจด้วยกองทัพถึง 2 ครั้ง

โดยเฉพาะหนหลังทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกฯ แล้วยังใช้รัฐธรรมนูญและ 250 ส.ว. ครองอำนาจต่อ ซึ่งแม้จะอ้างว่าเป็นยุคเลือกตั้ง แต่คนก็รู้กันทั่วว่าอยู่ภายใต้กลไกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

จึงได้แต่ห่วงว่าถ้าเราไม่ยึดหลักประชาธิปไตยกันจริงๆ สักวันเราก็ขัดแย้งกันไปจนถึงจุดที่ใช้ความรุนแรง คราวนี้ชาวบ้านที่จะต้องอพยพหลบหนีสงคราม ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นคนไทยเองที่กลายเป็น ผู้ลี้ภัย ยอมรับกันเถิดว่าต้องยึดหลักประชาธิปไตยเท่านั้น ประเทศจะไม่เข้าสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหัก

นายเสรีชน

ตอบ นายเสรีชน

บรรดานักรัฐประหารในประเทศไทยควรดูบทเรียนจาก เมียนมาจริงๆ ว่าอำนาจกองทัพไม่สามารถกดหัวคนให้ยอมสยบได้ เหตุการณ์สงครามระหว่างกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อย เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านรัฐบาลทหารที่ลุกลามไปทั่ว เห็นด้วยอย่างมากที่คุณเสนอว่า ต้องหลักประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะลดความขัดแย้งไม่ให้กลายเป็นการแตกหัก เพราะประชาธิปไตยคือการแบ่งสรร ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน แต่ถ้ายังรัฐประหารหรือสืบทอดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สักวันเราก็จะเดินไปสู่จุดแตกหักครั้งใหญ่ได้

 

ชาวนางรองต้านทางแยกต่างระดับ

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ชาวบ้านหวั่นว่า หากมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 24 กับทางหลวง 348 และ 2037 (แยกนางรอง) จ.บุรีรัมย์ ชุมชนจะได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน เนื่องจากจะส่งผลกระทบสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วิถีชีวิต รวมถึงผลกระทบต่อศาสนสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถเก่าแก่ พระประธานรูปปั้น และศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนางรอง และเชื่อว่าหากมีการก่อสร้างนางรองก็จะกลายเป็นเมืองร้าง และเชื่อว่าจะยิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากกว่าเดิม หากจะแก้ไขปัญหาจริง ควรจะสร้างถนนเลี่ยงเมืองจะเกิดประโยชน์มากกว่า จึงอยากเรียกร้องให้กรมทางหลวง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาโครงการดังกล่าว ได้ทบทวนและยุติโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวนางรอง

กุ้งจ่อม

ตอบ กุ้งจ่อม

กรมทางหลวงควรรับฟังเสียงต่อต้านของชาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการนี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน