ทะลุคนทะลวงข่าว

จากปมปัญหาขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ทั้งจากกรณีสภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจในการปลดอธิการบดีจนเกิดการฟ้องร้อง การชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ

โดยที่ รมว.ศึกษาธิการ และคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ เพราะอำนาจการบริหารงานอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ออกคำสั่งที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

เปิดทาง รมว.ศึกษาธิการมีอำนาจยับยั้ง จัดการปัญหาการสรรหาตำแหน่งบริหาร นายกสภา กรรมการสภา อธิการบดี

โดยให้อำนาจรมว.ศึกษาธิการ โดยคำแนะนำของ กกอ. มีอำนาจสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ไปปฏิบัติงานอื่น

และไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม สิทธิประโยชน์หรือเงินประจำตำแหน่งนั้น

กรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทั้งคณะ ให้รมว.ศึกษาธิการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกและกรรมการสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ดำเนินการตามคำสั่งนี้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ และมรภ.ชัยภูมิ โดยทันที

ด้วยเหตุผลว่ามรภ.ทั้งสองเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะระบบการสรรหาอธิการบดีที่มีปัญหา และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับสภามหาวิทยาลัย

ที่หนักสุดคือ มรภ.สุรินทร์ เนื่องจากอดีตรมว.ศึกษาธิการถึง 3 คน เคยใช้อำนาจสั่งการไปแล้วให้สรรหาอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยใหม่ให้เรียบร้อย

แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้

มรภ.สุรินทร์ซึ่งมี อัจฉรา ภาณุรัตน์ ทำหน้าที่รักษาการอธิการบดี

ปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต วิชาเอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม

ปริญญาโท การศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกการอุดมศึกษา (หลักสูตรและการสอน) ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ปริญญาเอก ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต วิชาเอกอุดมศึกษา(การบริหาร) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รับราชการครั้งแรก 19 ม.ค.2520 ที่โรงเรียนสุรวิทยาคาร อำเภอเมืองสุรินทร์

มิ.ย. 2521 โอนเข้าเป็นข้าราชการตำแหน่งอาจารย์วิทยาลัยครูสุรินทร์ จนถึงปัจจุบัน

อาจารย์คณะครุศาสตร์ และขึ้นเป็นรองอธิการบดี ในปี 2542

ธ.ค. 2557 สภามรภ.สุรินทร์ มีมติแต่งตั้งให้รักษาราชการในตำแหน่งอธิการบดีอีกครั้ง ก่อนถูกติดป้ายต่อต้าน

เหตุที่ใช้มาตรา 44 เนื่องจากมีปัญหามายาวนานกรณีนายกสภานั่งอยู่ในตำแหน่งนาน มีปัญหาเรื่องการสรรหาอธิการบดีและแต่งตั้งอธิการบดีไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ในการสรรหาอธิการบดี

มีการแก้ไขข้อบังคับการสรรหาโดยยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี

รวมถึงผู้ที่ได้รับการสรรหายังมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย

มีการปฏิเสธไม่นำเสนอโปรดเกล้าฯอธิการบดีนาน 8 ปี

นอกจากนี้ยังถูกชี้มูลความผิดทุจริตโดย สตง. ขณะที่มรภ.ชัยภูมิ ปัจจุบันมี สานนท์ ด่านภักดี ทำหน้าที่รักษาการอธิการบดี

พื้นเพเป็นชาวกรุงเทพฯ ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคยศึกษาที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

อดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชัยภูมิ และเคยลงสมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชัยภูมิ

เป็นรองอธิการบดี มรภ.ชัยภูมิ ควบรักษาการอธิการบดี

เหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 เนื่องจากมีปัญหาสะสมมานาน มีการร้องเรียนกันไปมาภายในมรภ.

ระบุการนำมาตรา 44 มาใช้จะเป็นการปลดล็อกในมหาวิทยาลัย ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

ตท.12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

จปร.23 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) จนได้เป็น ผู้บังคับการกรมในปี 2530, ผบ.พล.1 รอ. และแม่ทัพภาคที่ 1

เสนาธิการทหารบกและรองผบ.ทบ.

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็น ที่ปรึกษาและเลขานุการคณะที่ปรึกษาคสช.

นั่งเก้าอี้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลประยุทธ์ 1

ก่อนย้ายมานั่งรมว.ศึกษาธิการ

ยืนยันประกาศคสช. มีผลบังคับใช้ทันทีกับมรภ.สุรินทร์ และมรภ.ชัยภูมิ เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งมายาวนาน และแก้ปัญหาไม่ได้

คำสั่งนี้มีเพื่อให้อำนาจ กกอ.เข้าไปแก้ปัญหาในมหาวิทยาลัย ตั้งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบ

หากพบว่ามีประเด็นปัญหาที่ต้องเข้าไปควบคุม เสนอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุม เข้าไปดูแลได้ทันที

หากมีธรรมาภิบาลดีขึ้น จึงถอยออกมาให้มหาวิทยาลัยดูแลเองตามเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน