หวงไข่‘รธน.ฉบับคสช.’ ‘กรธ.-สนช.’ขวางแก้ไข ธนาธร ชัดเจน-ต้องฉีก

ทะลุคน ทะลวงข่าว

สวนทันควันจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พลันที่บางคนแสดงความหงุดหงิดเมื่อสิ้นเสียงคําประกาศชัดเจนของพรรคอนาคตใหม่

ประกาศว่า “ไม่มีการแก้ไข (รัฐธรรมนูญ) แก้ไขไม่ได้ ฉีกเลยล้ม”

ระบุ หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากได้เป็นรัฐบาล ภารกิจเร่งด่วนประการแรกๆ คือการขอประชามติจากประชาชนเพื่อยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หนักแน่นถึงการยกเลิกมาตรา 279 คุ้มกันอำนาจ คสช. และชักชวนประชาชนร่วมภารกิจหยุดอำนาจคสช. หยุดการสืบทอดเผด็จการ

สิ้นเสียงก็เรียงหน้ากันมา นอกจาก นายกฯ รองนายกฯ ยังมี กรธ. และสมาชิก สนช.

แต่ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยืนยัน รัฐธรรมนูญมรดกคสช. ต้องรื้อทิ้งแล้วร่างใหม่ เพื่ออนาคตที่เสรี ไร้การสืบทอดอำนาจ

โพสต์สวนทันทควัน พวกฉีกรัฐธรรมนูญโดยรัฐประหารต่างหากทำสังคมวุ่นวาย

ทั้งย้ำ มีคำตอบตอบจาก กกต.แล้วว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะบางมาตรา หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถเสนอได้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หรือพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเรื่องนี้จะทำให้พรรคมีปัญหาหรือไม่ ยืนยันว่าไตร่ตรองดีแล้วว่าการมีรัฐธรรมนูญใหม่คือทางออกของสังคม

ลั่นไม่สามารถอยู่กับมรดกคสช. ชิ้นใหญ่ ที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และวางกลไกเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศได้

ยืนยัน การแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรม นูญใหม่ทั้งฉบับ จะมีความชอบธรรมแน่ หากทำโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเอง

วัย 40 ผันตัวจากนักธุรกิจในฐานะรองประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 4.11 หมื่นล้าน เป็นนักการเมืองเต็มตัว

เข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จากนั้นไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร ปริญญาโท 3 ใบ สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาการเงินระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และสาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซังกท์กัลเลิน สวิตเซอร์แลนด์

15 มี.ค. 61 ผนึก ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกฎหมายคนสำคัญ พร้อมผู้ร่วมอุดมการณ์ จดทะเบียนตั้งพรรคอนาคตใหม่

กล่าวด้วย คนที่กลัวว่าข้อเสนอของอนาคตใหม่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะนำไปสู่วังวนความวุ่นวายเหมือนในอดีต ขอยืนยันว่าการฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารต่างหาก ที่นำมาซึ่งความเสียหายย่อยยับอันไม่อาจประเมินได้

แต่การรื้อรัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกรัฐบาลทหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น ประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน ไม่มีทางทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง

และมีคำถามด้วยว่า คนกลุ่มไหนกันที่จะเห็นแย้งกับการคืนอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แล้วคำเตือนก็มาจาก สมชาย แสวงการ วิปสนช.ผู้อยู่กับระบบแต่งตั้งมายาวนาน

แอ่นอกป้องการชูแนวคิดคว่ำรัฐธรรมนูญ ระวังถูกยุบพรรค และถูกฟ้องเอาผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ

อ้างว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่พูดได้ แต่ทำได้ยาก โดยเฉพาะการแก้ไขในประเด็นสำคัญต้องผ่านการทำประชามติเห็นชอบจากประชาชนก่อน

ที่สำคัญการชูนโยบายที่หมิ่นเหม่ ต่อการคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชามติของประชาชน อาจเข้าข่ายมีความผิดได้ เพราะในรัฐธรรมนูญเองมีมาตราที่เขียนปกป้องรัฐธรรมนูญไว้

ระบุอย่างไรก็ตามถ้าดูพฤติการณ์ขณะนี้ที่เป็นการพูดอย่างเดียว ยังไม่เข้าข่ายความผิด แต่ถ้านำไปปฏิบัติเมื่อใด อาจมีคนไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดเรื่องการยุบพรรค เพราะเข้าข่ายความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ

อายุ 56 สำเร็จปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เคยทำข่าว มีกิจการบริษัทผลิตสื่อวิทยุโทรทัศน์

หลังรัฐประหาร 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. ต่อมาเป็น ส.ว.สรรหา และเข้าสนช.อีกครั้งยุค คสช.

ตบท้ายว่า “รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ควรนำมาใช้เป็นเฮตสปีช เพื่อพูดหาเสียง สร้างความแตกแยกในสังคมขึ้นมาอีก”

ธนาธร

อีกเสียงจาก อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ชี้ว่าเป็นเรื่องความเห็น ไม่ถือว่าผิดอะไร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีถึง 279 มาตรา บางคนอาจจะชอบ บางคนอาจจะไม่ชอบก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตนคิดว่า การใช้คำว่าฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการใช้ภาษาเพื่อให้เกิดความรู้สึกเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดคงไม่ใช่เรื่องการล้มล้างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาสังคมไทยเคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้วในสมัยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ซึ่ง ตนคิดว่าวันนี้ยังอีกไกลมาก เพราะมีกระบวนการเยอะพอสมควร เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปิดช่องไว้สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น

ดังนั้น ก่อนการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จะต้องผ่านกระบวนการแก้ไขเพื่อเปิดทางไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นเสียก่อน และนอกจากจะต้องผ่านขั้นตอนทางนิติบัญญัติแล้วยังไปทำประชามติถามประชาชนก่อนด้วยว่า จะเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิตและนิติศาสตรมหาบัณฑิต ธรรมศาสตร์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยปารีส II และ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยน็องซี II ฝรั่งเศส

ปี 2559 ระหว่างเป็นโฆษก กรธ. ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์

สำหรับประเด็นแก้รัฐธรรมนูญของพรรคอนาคตใหม่ โฆษก กรธ.สรุปว่า ยังอีกไกล

ต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐธรรมนูญฉบับคสช.จะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน