ดีเอสไอผนึกนิติวิทยาศาสตร์ ไพสิฐ-กรวัชร์-วรรณพงษ์ คลี่คดีฆ่าเผายัดถัง‘บิลลี่’ : ทะลุคนทะลวงข่าว

ดีเอสไอผนึกนิติวิทยาศาสตร์ – การหายตัวไปอย่างลึกลับของ พอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงนักต่อสู้แห่งแก่งกระจาน เมื่อ 5 ปีก่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอีกหลายหน่วยงาน ซุ่มทำงานเงียบๆ มาตลอดจนกระทั่งพลิกคดีจากคนหาย เป็นฆาตกรรม

พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ชี้ชัด ‘บิลลี่’พอละจี เสียชีวิตแล้ว ถูกเผายัดถังเพื่ออำพรางศพ ทิ้งน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

ย้อนกลับไปวันที่ 28 มิ.ย.2561 คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี เป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

ทั้งนี้ บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 17 เม.ย.57

ต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ พร้อมรถจักรยานยนต์และ น้ำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ และญาติ เชื่อว่าบิลลี่หายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ

กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาดำเนินการสืบสวนสอบสวน แต่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ และบูรณาการความร่วมมือกับ ทุกภาคส่วน ประกอบด้วย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(บช.ตชด.), กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (บช.ภาค 7), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ ร่วมกันสืบสวนสอบสวนอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตัวแทนหน่วยงานที่ร่วมกันคลี่คลายคดี เปิดแถลงใหญ่ ระบุว่าเมื่อวันที่ 22-24 พ.ค.2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรม ศาสตร์ มจพ. และนักประดาน้ำจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ บช.ตชด. ตรวจหาพยานหลักฐานในพื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี








Advertisement

ตรวจพบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน จากนั้นส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจพิสูจน์พบว่า “เป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส”

ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนาง โพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี

เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของ “นายพอละจี รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี”

ส่วนถังน้ำมัน เหล็กเส้น ถ่านไม้ และเศษฝาถังน้ำมัน ได้ส่งศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการผ่านความร้อนและการ ผุกร่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์

นอกจากนี้ วันที่ 28-30 ส.ค.2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับนักประดาน้ำกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ บช.ตชด. และบช.ภาค 7 ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน พบชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 ชิ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจพิสูจน์

ดีเอสไอเห็นว่า พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้ เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

หลังจากนี้ จะเร่งรัดสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดโดยเร็ว

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ

อายุ 59 ปี เกิด 27 ต.ค. 2503

จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 38 ปริญญาโทพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เส้นทางราชการเริ่มที่กรมตำรวจ เป็นผกก.4 บก.อก.ภาค 2 ผกก.สภ.อ.บ้านบึง ภ.จว.ชลบุรี

ปี 2547 โอนย้ายเข้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม

เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวนชุดที่ 1 ส่วนสืบสวนสะกดรอย และผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษ สำนักปฏิบัติการพิเศษ

ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ และรองอธิบดีดีเอสไอ

5 พ.ย.2558 ขึ้นเป็นอธิบดีดีเอสไอ

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ชื่อเล่น ‘บิลลี่’ อายุ 51 ปี เกิด 11 มี.ค.2511 บุตร พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)

เตรียมทหารรุ่น 24 โรงเรียนนาย ร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 43 รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2533 รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี เป็นผู้ช่วยนายเวรแล้วขยับเป็นนายเวร ผู้บังคับการกองปราบปราม

สารวัตรแผนก 3 กองกำกับการ 5 กองปราบปราม และรองผู้กำกับการ 3 กองปราบปราม

ปี 2547 โอนย้ายมาดีเอสไอ

เป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 9 ระดับเชี่ยวชาญ, ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร ก่อนเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ

ปี 2558 ออกนอกหน่วยมานั่งรอง ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ต.ค.2561 เป็นผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ

เตรียมทหารรุ่น 20 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 36

เป็นผู้อำนวยการส่วนอาญาพิเศษ 1 สำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ

พ.ย. 2557 ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ดีเอสไอ

มี.ค. 2560 จากผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค (อำนวยการเฉพาะด้านพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ) ขึ้นเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ

หัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีฟอกเงินกรุงไทย และคดีรถยนต์หรูเลี่ยงภาษี

ล่าสุดเข้าพื้นที่บ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เยี่ยมให้กำลังใจ พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาบิลลี่ แจ้งความคืบหน้าการคลี่คลายคดี ให้คำแนะนำการต่อสู้คดีแก่ครอบครัวบิลลี่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มครองในฐานะพยานสำคัญ

ภรรยาเหยื่อน้ำตาคลอ มีความหวัง ต่อการทำงานของดีเอสไอ, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทวงความยุติธรรมให้ ‘บิลลี่’พอละจี รักจงเจริญ หนุ่มชาติพันธุ์นักต่อสู้เพื่อผืนป่าและความเป็นมนุษย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน