ค้นหาความจริงพ.ค.53

3 คดีตัวอย่าง‘99ศพ’

ทะลุคน ทะลวงข่าว

ค้นหาความจริงพ.ค.53 3 คดีตัวอย่าง‘99ศพ’ : ทะลุคน ทะลวงข่าว – ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 99 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน
แต่จนถึงขณะนี้ ความจริงยังไม่ถูกทำให้กระจ่าง ความตายยังไม่มีผู้รับผิดชอบ คดีความไม่มีความคืบหน้า
หนึ่งในนั้นคือ คดี ‘พัน คำกอง’ คนขับแท็กซี่
ชาวยโสธร เกิดวันที่ 25 ธ.ค. 2509
มีภรรยาและลูกสาว เสียชีวิตใน วัย 43 ปี ขณะยืนอยู่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์ พอร์ลิงก์ สถานีราชปรารภ ช่วงเวลา 00.05 น. ของวันที่ 15 พ.ค. 2553

พัน คำกอง

ขณะนั้นจุดนั้นมีเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่ และกำลังระดมยิงใส่รถตู้คันหนึ่ง แต่กระสุนถูกพัน คำกอง เข้าหน้าอกซ้ายใต้ราวนมเสียชีวิต
ผลตรวจสอบเป็นกระสุนปืนเล็กกล ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ซึ่งเป็น กระสุนปืนใช้ในราชการสงคราม
คดี พัน คำกอง เป็นสำนวนแรกที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพไปแล้ว เมื่อเดือนก.ย.2555 ชี้ชัดว่า ถูกยิงจากกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ทหาร
ต่อมา เดือนก.ย. 2562 เมีย พัน คำกอง ทวงถามความเป็นธรรมให้สามี
เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 2 นายทหาร ยศ พ.อ. และ พ.ท. เป็นเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2
ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ระหว่างสลายชุมนุมกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ คำฟ้องอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์

เช่นเดียวกับคดี ‘น้องเฌอ’ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี
ถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงเข้าศีรษะ เสียชีวิตบริเวณฟุตปาธถนนราชปรารภ ใกล้ซอยราชปรารภ 18 ช่วงเช้าเวลา 08.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 2553
ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีการนำอาวุธสงครามและกระสุนจริงมาใช้ปฏิบัติการ รวมทั้งพลซุ่มยิงระยะไกล หรือสไนเปอร์

‘น้องเฌอ’ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ

ช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันนั้น สุภชีพ จุลทรรศน์ อายุ 36 ปี คนขับแท็กซี่ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงเข้าศีรษะเสียชีวิต บริเวณหน้าร้านกันสาดราชปรารภ
บริเวณใกล้เคียงกันยังมี อำพล ชื่นสี อายุ 25 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะเสียชีวิตอีกราย
‘น้องเฌอ’ ลูกชายของ พันธ์ศักดิ์ และสุมาพร ศรีเทพ
ชอบติดตามบิดาไปทำกิจกรรมกับกลุ่มเครือข่ายสันติประชาธรรม
เคยเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีรัฐบาลไทยเริ่มเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
เรียน ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการบางใหญ่ เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
กลับมาเรียนต่อปวช. โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ สาขาการค้าปลีก
ก่อนเสียชีวิต เรียนปวช.ปี 2 ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช. แต่ไปสังเกตการณ์รอบนอกพื้นที่การชุมนุม
แต่ถูกยิงเสียชีวิตอย่างน่าสลดหดหู่
15 พ.ค. 2555 พ่อน้องเฌอและเพื่อนๆ นำหมุดมีข้อความว่า “Cher laid down his life here. 15.05.2010 เฌอถูกทหารยิงเสียชีวิตที่นี่”
พร้อมภาพเหมือนของ สมาพันธ์ มาปักตรึงลงบริเวณทางเท้าจุดที่ถูกยิงเสียชีวิต

อีกเหตุการณ์สะเทือนใจในเดือนพ.ค.2553 วันที่ 19 กลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคนเข้าไปหลบการปราบปรามของเจ้าหน้าที่อยู่ใน ‘เขตอภัยทาน’ วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กทม. ถูกยิงเสียชีวิต 6 ราย
1 ใน 6 ศพ คือ ‘น้องเกด’ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา
น้องเกด เกิดที่กรุงเทพมหานคร อายุ 25 ปี

‘น้องเกด’ น.ส.กมนเกด อัคฮาด

บุตรีนายทับทิม กับนางพะเยาว์ อัคฮาด มีพี่สาวและน้องชาย เรียนจบม.3 รู้ว่าพ่อแม่ไม่ค่อยมีเงิน จึงเรียนการศึกษานอกโรงเรียนจนจบม.6 เข้าเรียนโรงเรียน การบริบาลด้านผู้ช่วยพยาบาลฝึกงานที่ โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ 3 ปี
ไม่มีงานประจำ ไปช่วยเพื่อนซึ่งประมูลงานที่การไฟฟ้าสามเสน ด้านงานเอกสาร
ทำหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยเหลือคนเจ็บประจำจุดลาดกระบัง
หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 ที่แยกคอกวัว ร่วมกลุ่มเพื่อนเข้าไปเป็นพยาบาลอาสาดูแลผู้ชุมนุมที่เจ็บป่วยบริเวณแยกราชประสงค์
วันที่ 19 พ.ค. ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเต็นท์พยาบาล ในเขตอภัยทาน วัดปทุมวนาราม
เดือนส.ค. 2553 ศอฉ.มอบให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จัดตั้งชุดสืบสวนสอบสวนกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุม 10 เม.ย.-21 พ.ค. 2553
ปี 2555-2558 ศาลทยอยออกคำสั่งไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตรวม 33 ราย
ต่อมาศาลมีคำสั่งว่า กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ 18 ราย อีก 15 ราย ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ
อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น ได้แจ้งข้อหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดของศอฉ. และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.
ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ค.2557 การเอาผิดผู้สั่งการสลายชุมนุมเริ่มสะดุด
ต่อมาศาลยกฟ้อง ด้วยเหตุผลไม่ใช่ขอบเขตอำนาจศาลอาญา โดยเห็นว่าเป็นกระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่
พะเยาว์ อัคฮาด แม่ ‘น้องเกด’ ใช้อีกช่องทางเพื่อหาผู้รับผิดชอบ โดยยื่น ทั้งสำนวนพยานหลักฐานของตำรวจ สำนวนผลการไต่สวนการตาย การชันสูตรพลิกศพจากศาลว่าเสียชีวิตจากกระสุนของ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 8 คน
แต่อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง
วันที่ 8 พ.ค. 2563 พ่อน้องเฌอและแม่น้องเกด รวมถึงญาติผู้เสียชีวิต เดินทางไปดีเอสไอ ทวงถามความคืบหน้าคดี 99 ศพ
หลังจากดีเอสไอส่งสำนวนคดีให้อัยการคดีพิเศษ และถูกตีกลับเมื่อปลายปี 2561 เพื่อให้ดีเอสไอหาหลักฐาน เพิ่มเติม
ผ่านมา 10 ปี คดีไม่มีความคืบหน้า
ความจริงไม่ถูกทำให้กระจ่าง ความตายไม่มีผู้รับผิดชอบ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน