‘ไสลเกษ’พ.อาวุโสในศาลฎีกา ‘เมทินี’ปธ.ศาลฎีกาหญิงคนแรก ‘ปิยกุล’ขึ้นปธ.ศาลอุทธรณ์ : ทะลุคนทะลวงข่าว – ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เห็นชอบบัญชีโยกย้ายผู้พิพากษา

ตั้งแต่ประธานศาลฎีกาลงมาจนถึงระดับหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เเละบัญชีผู้พิพากษาอาวุโส

ให้มีผลตั้งเเต่วันที่ 1 ต.ค.เป็น ต้นไป

ปีนี้ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา อายุครบ 65 ปี จึงต้องลงจากตำแหน่งบริหาร ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส (พ.อาวุโส) ในศาลฎีกา จนถึงอายุ 70 ปี

ขณะที่รองประธานศาลฎีกาที่มีทั้งหมด 6 คน ปีนี้ต้องลุกจากตำแหน่งถึง 5 คน

เมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 3 เลื่อนขึ้นเป็น ประธานศาลฎีกา คนที่ 46

ถือเป็นประมุขตุลาการหญิงคนเเรกในประวัติศาลยุติธรรม

เช่นเดียวกับประธานอุทธรณ์ ก็ได้สุภาพสตรีมาดำรงตำแหน่ง เนื่องจากการลงจากตำแหน่งของประธานแผนกคดีในศาลฎีกาที่มีอาวุโสมากกว่า

ส่งผลให้ตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ไล่ลงมาถึงคิวผู้มีอาวุโสลำดับ 14 ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานแผนกคดีล้มละลาย ขยับขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์

สร้างประวัติศาสตร์ ผู้หญิงดำรงตำแหน่งทั้งเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของโครงสร้างศาลยุติธรรม

 

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เกิด 3 ธ.ค.2497 อายุ 65 ปี

พื้นเพเป็นชาวแม่กลอง สมุทรสงคราม

นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนติบัณฑิตไทย สํานักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหา วิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยทุนก.พ.

เส้นทางราชการตุลาการ ผ่าน ตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดระนอง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานกลาง

อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และรองประธานศาลฎีกา

เคยได้รับแต่งตั้งเป็นองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่วมพิจารณาคดีทุจริตโครงการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี), องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตรฯ เป็นต้น

1 ต.ค.2562 ขึ้นเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ ประธานศาลฎีกา คนที่ 45

อายุครบ 65 ปี ต้องลงจากตำแหน่งบริหาร ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส

 

เมทินี ชโลธร เกิด 3 ธ.ค.2498 อายุ 64 ปี

นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรนิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการบริหารงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

รับราชการเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ต.ค. 2524

ผ่านตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้พิพากษา ศาลจังหวัดสุรินทร์, นครนายก, ศาลแขวงพระนครเหนือ

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเขียว, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 4

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 4, ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์

ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา

กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.), กรรมการตุลาการ (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกา

รองประธานศาลฎีกา และเลขา ธิการเนติบัณฑิตยสภา

มีบทบาทสำคัญ ในฐานะประธานที่ปรึกษาเเละประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนเเละนโยบายด้านอื่นๆ

เป็นหญิงแกร่งแห่งวงการศาล ผ่านงานสำคัญ เช่น ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กำกับดูแลคดีภาษี คดีแรงงาน คดีเยาวชน คดีทรัพย์สินทางปัญญา และคดีล้มละลาย

เป็นที่ยอมรับของคนในศาลยุติธรรม

1 ต.ค.นี้ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาหญิงคนแรก

 

ปิยกุล บุญเพิ่ม เกิด 28 ต.ค.2499 อายุย่าง 64 ปี

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ปริญญาโทนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มเส้นทางตุลาการปี 2521 ตำแหน่งนิติกร

จากนั้นเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา, ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาจังหวัดร้อยเอ็ด, ขอนแก่น และนนทบุรี

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาจังหวัดน่าน, ลำพูน และนครสวรรรค์

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่งกรุงเทพใต้, ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์ ภาค 1

รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1

ปี 2562 ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา

1 ต.ค.นี้ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ตามลำดับอาวุโส มีโอกาสขึ้นสู่ประธานศาลฎีกา คนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน