มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 11 ต.ค.

ห้ามโดรนที่ไร้ใบอนุญาตบินทั่วประเทศ เป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ 12 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป

ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากใครจำเป็นต้องใช้งานโดรน ขอให้เจ้าของนำโดรนที่จะใช้งานไปลงชื่อได้ ที่สำนักงานกสทช.ทั่วประเทศ หรือสถานีตำรวจ หรือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เพื่อขอใช้งานโดรนในกรณีจำเป็น

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แจงเหตุผล ยอมรับว่า กสทช.ก็วิตกกังวล เนื่องจากมีการนำเข้าและใช้ โดรนจำนวนมาก ประมาณ 5 หมื่นลำ

แต่ข้อมูลจาก กพท. พบว่ามีขึ้นทะเบียนใช้งานโดรนเพียง 350 ลำเท่านั้น

จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ให้ผู้ที่มีโดรนในความครอบครอง มาขึ้นทะเบียนทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคจำนวน 21 แห่ง ก่อนนำไปใช้งาน

ขณะที่ น.ส.มนัสชนก อรรถกรวรรธนะ หัวหน้ากองใบอนุญาตประกอบกิจการ กพท. ก็ออกมาขานรับมติกสทช.

แจงหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนโดรน พร้อมกฎของการบิน

ทั้งการห้ามบินความสูงเกิน 90 เมตร หรือระยะ 9 กิโลเมตร จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาต

ห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่ได้รับอนุญาต

การบินในระดับแนวราบ กับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร อย่างน้อย 30 เมตร ห้ามบินใกล้ชุมชน

หากโดรนมีน้ำหนักเกินกว่า 25 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.คมนาคม

ฐากร เกิดวันที่ 10 ก.ย. 2503

เป็นเลขาธิการ กทช. คนสุดท้าย และเลขาธิการ กสทช. คนแรก

ปริญญาตรี สาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทด้านรัฐประ ศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา

เคยเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ สำนักงบประมาณ ก่อนเป็นที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ปี 2548 เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงาน กทช. แล้วขยับเป็นรองเลขาธิการ กทช.

2552 รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช.

ระหว่าง 20 ธ.ค. 2553-4 ม.ค. 2555 ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กสทช.

ขึ้นเป็นเลขาธิการ กสทช. เมื่อ 5 ม.ค. 2555 มีวาระ 5 ปี

นั่งวาระสอง ต่อเนื่องจาก 5 ม.ค.2560 ถึงปัจจุบัน

ด้าน มนัสชนก อรรถกรวรรธนะ

ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโทด้านวิศวกรรมเคมี จาก มหาวิทยาลัยคอร์เนล นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ปริญญาโทอีกใบ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ

อดีตผู้อำนวยการโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย การนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม

ย้ายมาทำงานที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากองใบอนุญาตประกอบกิจการ

ยอมรับแม้กพท.จะออกประกาศให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่ยังมีคนฝ่าฝืนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายให้เคร่งครัด

พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. ในฐานะดูแลความปลอดภัยในภาพรวมของน่านฟ้า ในช่วงงานพระราชพิธี

บิ๊กจอม เกิดเมื่อ 15 พ.ค.2501

ตท.16 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ และพล.อ.ธวัช สุกปลั่ง

ปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้า จปร. 26

ศึกษาต่อที่สถาบันป้องกันประเทศแห่งชาติญี่ปุ่น (โบได)

รับราชการที่กองทัพอากาศ ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ รองเจ้ากรมข่าวทหารอากาศ, ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ, เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ

ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายยุทธการ, ตุลาการศาลทหารกลาง, รองเสนาธิการทหารอากาศ และเสนาธิการทหารอากาศ

ขึ้นเป็นผบ.ทอ. เมื่อต.ค.2559

ระบุเพื่อให้การใช้โดรนเป็นไปตามเงื่อนไขของกสทช.

โดยเฉพาะในช่วงพระราชพิธี ห้ามโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาตทำการบินพื้นที่สนามหลวงในรัศมี 19 กิโลเมตรอย่างเด็ดขาด

กรอ.พระราชพิธี มอบให้กองทัพอากาศจัดตั้งศูนย์แอนตี้โดรน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ระบบเซ็นเซอร์ และวางยามอากาศไว้รอบสนามหลวง

ฉะนั้น ผู้ที่จะขึ้นบินโดรนได้นั้น ต้องลงทะเบียน และเป็นโดรนที่ถูกกฎหมาย ใช้ในการถ่ายภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวประกอบการทำข่าวเท่านั้น

ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีพระเมรุมาศจำลอง จะใช้มาตรการเดียวกับทางกรุงเทพฯ เช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ภาพงานพระราชพิธีบรมศพฯ เป็นไปด้วยความเหมาะสมและสมพระเกียรติสูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน