ป่วยเพิ่มอีกราย
กลับจากญี่ปุ่น
สลด-ช็อกดับ!
‘หัวใจวาย’คร่า
คาสถานกักตัว

หมอจุฬาฯเผยผลทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิง ชี้ได้ผลดี ต.ค.นี้เริ่ม ทดสอบในอาสาสมัครตามแผนขณะที่สถานการณ์ในประเทศ เจอติด 1 รายกลับจากญี่ปุ่น สลดหนุ่มใหญ่ดับคาสถานกักกันของรัฐ แพทย์ระบุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นายกฯย้ำใช้ชีวิตวิถีใหม่ การ์ดอย่าตก นิด้าโพลระบุคนส่วนใหญ่ ยังไม่เห็นด้วยเปิดปท.รับต่างชาติ

เจอติดโควิด 1 รายกลับจากญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 เวลา 11.30 น. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็นผู้เดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นและอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine)

โดยผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,217 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 3,088 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย ทั้งนี้ในจำนวนผู้ป่วยสะสม 3,217 ราย พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนนทบุรีจำนวน 1,783 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 484 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 744 ราย

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 12,842,036 ราย อาการรุนแรง 58,832 ราย รักษาหายแล้ว 7,478,180 ราย เสียชีวิต 567,649 ราย

โดยอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 3,355,646 ราย 2.บราซิล จำนวน 1,840,812 ราย 3.อินเดีย จำนวน 850,358 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 720,547 ราย และ 5.เปรู จำนวน 322,710 ราย ทั้งนี้ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 100 จำนวน 3,217 ราย

ดับ 1 คาสถานกักกันของรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เผยแพร่ข้อมูล ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเสียชีวิตขณะที่ยังอยู่ในสถานกักกันของรัฐ (state quarantine) ว่าเป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและโรคไต เดินทางกลับจากประเทศอินเดีย และเข้าพักในสถานกักกันของรัฐในจ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 11 ก.ค.

ขณะที่พักอยู่ในสถานกักกันฯ เกิดอาการแน่นอกและเหงื่อแตก ญาติจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตามรถพยาบาลมารับตัวและให้การช่วยเหลือชายไทยรายนี้ในเบื้องต้น ซึ่งขณะเดินทางไปโรงพยาบาลผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แต่อาการไม่ดีขึ้น เมื่อถึงโรงพยาบาลได้รับการรักษาและวินิจฉัยว่า เป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากนั้นหัวใจหยุดเต้นขณะรับการรักษา ทีมแพทย์ได้พยายามทำการฟื้นคืนชีพ 50 นาที แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

วัคซีนโควิด – คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงผลคืบหน้าการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยืนยันผลทดสอบในลิงได้ผลดีและไม่มีผลข้างเคียง เตรียมทดลองใช้ในมนุษย์เร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.

 

เผยผลทดสอบวัคซีนในลิง

ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

พร้อมด้วยศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าวจุฬาฯ พัฒนาวัคซีน โควิด-19 หลังพบในลิงได้ผลดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา)

ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์วิจัยวัคซีนฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า CU-Cov19 ซึ่งเป็นข่าวดีในการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่ 2 พบว่าลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี จึงเตรียมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผน เพื่อให้ผลออกมาเป็นรูปธรรมและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้

ด้านศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า วัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้

โดยในครั้งแรกเราทดลองในหนูซึ่งผลออกมาดี มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ในระดับ 40,000 ไตเติล แต่หนูเป็นสัตว์ที่เล็กและมีภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อเป็นลิงระบบคุ้มกันจะน้อยกว่าหนูไปประมาณ 10-20 เท่า โดยฉีดวัคซีนให้กับลิงทดลองเข็มที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.

ถึงวันนี้เกิน 14 วัน โดยผลอย่างเป็นทางการทางการจะออกวันที่ 13 ก.ค. นี้ ทั้งนี้เบื้องต้นมีค่าระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยที่ 5,000 ไตเติล ถือว่าดีเกินคาด แต่เมื่อฉีดให้คนอาจทำให้ระบบคุ้มกันต่ำกว่าลิงไปอีก

ต.ค.นี้เตรียมทดลองในคน

ศ.นพ.เกียรติกล่าวอีกว่า โดยภายในสัปดาห์หน้าเราจะส่งวัคซีนที่เลือกไว้ 2 ตัว เพื่อเริ่มผลิตใน 2 โรงงานในต่างประเทศ โดยตัวแรกจะผลิตในอเมริกาเป็นการผลิตชิ้นเนื้อวัคซีน คาดว่าเสร็จประมาณ ต.ค. 63 และผสมต่อในส่วนไขมันเคลือบวัคซีนในโรงงานที่ 2

คาดใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน หรืออย่างเร็วในช่วงเดือนพ.ย. 63 จากนั้นจะเดินหน้าทดลองฉีดในคนเป็น 3 เฟส เฟสแรกเราคาดการณ์ว่าจะฉีดในมนุษย์ เร็วสุดในช่วงเดือนต.ค. ซึ่งจะต้องอยู่ภายในปีนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอายุ 18-60 ปี จำนวน 75 คน

แบ่งการฉีดวัคซีนในโดสที่ต่ำก่อน คือ 10, 30 และ 100 ไมโครกรัมตามลำดับ หากได้ผลดีปลอดภัยจะฉีดเข็มที่ 2 ในปริมาณเท่าเข็มแรก และมีอีก 2 กลุ่มที่ให้วัคซีนเข็มแรก 30 ไมโครกรัม เข็มสองลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม และอีก 15 คนให้เข็มแรก 100 ไมโครกรัม และเข็มสอง 10 ไมโครกรัม ถ้ามีความปลอดภัยจึงจะทดลองในกลุ่มอายุที่มากขึ้น 61-80 ปี จำนวน 75 คนต่อไป

คาดว่าใช้ระยะเวลาในเฟสแรกประมาณ 2 เดือน และเริ่มทดลองเฟส 2 ในต้นปีหน้า โดยใช้อาสาสมัคร 500-1,000 คน คาดว่าจะรู้ผลในกลางปี 2564 ซึ่งในระยะสองเฟสแรกเราจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ดูระดับภูมิคุ้มกันว่ามากขึ้นเพียงใด ส่วนเฟส 3 ต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจริง ดังนั้นอาจทดลองในไทยไม่ได้ เพราะขณะนี้ไทยไม่มีผู้ติดเชื้อ จึงอาจประสานกับประเทศที่ยังมีการระบาดอยู่

“แต่ขณะนี้เรายังไม่สามารถรับอาสาสมัครได้ เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตออกมาต้องได้รับการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์อนุญาตก่อน จึงจะประกาศรับอาสาสมัครได้ คาดว่าในช่วงก.ย. 63 นี้

ปัจจุบันในโลกมีผู้พัฒนาวัคซีน mRNA ประมาณ 18-20 ตัว แต่มี 4 ตัวที่ก้าวหน้ากว่าไทยอยู่ 6 เดือน ทางยุโรปมีการคาดการณ์ว่าอาจมี 1 ตัวสำเร็จในต้นปีหน้า และเมื่อผ่านการพิจารณาจาก ทุกฝ่ายที่ยอมรับ ซึ่งไทยเองก็พยายามพัฒนาวัคซีนควบคู่กับต่างประเทศ

หากประเทศไหนเข้าวินก่อนก็เป็นเรื่องที่ดี ไทยจะได้ใช้เงินน้อยลงรวมทั้งการลดระยะเวลาในเฟส 3 ได้ถึง 9-12 เดือนด้วย” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

นายกฯ ย้ำใช้ชีวิตวิถีใหม่

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เตือนประชาชนทั้งประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า “การ์ดอย่าตก” แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ ไปมากแล้ว

เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ แต่ทุกคน ทุกภาคส่วนยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองให้มากขึ้น ขอให้เข้มงวดกับการใช้ชีวิต ตามวิถีใหม่ เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ

ที่ผ่านมารัฐบาลคลายมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดได้เพราะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมถึงป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงจนสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น

แต่ในหลายประเทศสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง รัฐบาลจึงขอความร่วมมือทุกคนเฝ้าระวัง ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 เช่นเดียวกับสถานศึกษา ขอให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดจริงจัง ไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดขึ้นมาอีก

โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน และขณะนี้พบว่าประชาชนมีการรวมกลุ่มและเดินทางไปต่างจังหวัดมากขึ้น จึงขอให้มีลงทะเบียนเข้า-ออก ผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อติดตาม สอบสวนโรค หากเกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อใหม่ ซึ่งมีประชาชนบางส่วนยังละเลยไม่ปฏิบัติตาม

“นายกฯ ย้ำว่าการ์ดอย่าตก เพราะถ้าหากประชาชนเริ่มที่จะผ่อนคลายตัวเอง ไม่ระมัดระวัง อาจทำให้ประเทศไทยเจอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ได้แน่นอน ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มภายในประเทศเป็นวันที่ 47 จากรายงานของ ศบค.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.

แต่เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนทั่วประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่รัฐบาลประกาศ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบตามวิถีใหม่” โฆษกรัฐบาลกล่าว

โพลระบุยังไม่เห็นด้วยเปิดปท.

ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่” สำรวจระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้ (โครงการ Medical and Wellness Program) พบว่า 41.41 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะคนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็ติดโรคและรักษาตัวอยู่เยอะมากแล้ว และกลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้เกิดโควิด-19 รอบ 2 ได้

ชี้ยังกลัวระบาดรอบ 2

รองลงมาคือ เห็นด้วยมาก 23.10 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าทำให้การแพทย์ของไทยมีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ, ค่อนข้างเห็นด้วย 21.58 เปอร์เซ็นต์ เพราะ ประเทศไทยมีมาตรการที่ดีในการควบคุมโรคโควิด-19

เป็นการเเสดงศักยภาพของบุคลากรทางการเเพทย์ของไทยให้ทั่วโลกได้เห็น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ค่อยเห็นด้วย 13.91 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่เชื่อว่าปลอดภัย กลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย และสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้ามา ถึงเเม้จะมีใบรับรองก็ตาม

ด้านการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาล (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ (โครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่) พบว่า 37.89 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะอยากให้โรคโควิด-19 หมดไปก่อน 100%

ถึงแม้จะมีการกักตัว 14 วัน ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดโรคโควิด-19 ขึ้น กลัวเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ขึ้น รองลงมาคือ เห็นด้วยมาก 24.14 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการช่วยเหลือ ฟื้นฟู การท่องเที่ยวในไทยให้มีรายได้เหมือนเดิม และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย, ค่อนข้างเห็นด้วย 23.26 เปอร์เซ็นต์ เพราะมั่นใจการรักษาของแพทย์ในประเทศไทย

เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย และมีเงินหมุนเวียนเข้าประเทศทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น, ไม่ค่อยเห็นด้วย 14.55 เปอร์เซ็นต์ กลัวเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รอบ 2 ขึ้น เนื่องจากโรคโควิด-19 มักมาจากต่างชาติ และ 0.16 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ไม่เห็นด้วย ‘ทราเวลบับเบิล’

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการทราเวล บับเบิล (Travel Bubble) ที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติจากประเทศที่ปลอดเชื้อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้

พบว่าประชาชนไม่เห็นด้วยเลย 29.65 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่เชื่อมั่นในตัวนักท่องเที่ยวถึงจะเป็นประเทศปลอดเชื้อก็ตาม กลัวนำโรคเข้ามาในไทย และทำให้เกิดการแพร่ระบาดในไทยรอบ 2 ได้ รองลงมาคือ ค่อนข้างเห็นด้วย 28.46 เปอร์เซ็นต์ เพราะ มีเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนักท่องเที่ยวที่มาอยากให้จัดเป็นกลุ่มเพื่อการดูแลและควบคุมได้ง่าย,

เห็นด้วยมาก 25.90 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ด้านการบินจะได้ไม่หยุดชะงัก และประเทศไทยต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, ไม่ค่อยเห็นด้วย 14.95 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลัวเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ขึ้น

เนื่องจากกว่าจะแสดงอาการค่อนข้างมีเวลานาน และไม่เชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวที่มาจะปลอดภัยจากโควิด-19 จริง และ 1.04 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

กลัวต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือ

สุดท้ายเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศได้ หากมีการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ตามโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ อันดับ 1 ไม่ค่อยเชื่อมั่น 30.53 เปอร์เซ็นต์

เพราะกลัวคนต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเอง และยังไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดรอบ 2 ในไทยได้ รองลงมาคือ ไม่เชื่อมั่นเลย 29.10 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในไทยได้

เนื่องจากควบคุมได้ยาก และมาตรการของรัฐบาลยังไม่มีความเข้มงวดที่ดีพอ, ค่อนข้างเชื่อมั่น 23.90 เปอร์เซ็นต์ เพราะดูจากผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลว่าสามารถควบคุมได้ และรัฐบาลน่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมไม่ให้โควิด-19 ระบาดในไทยรอบ 2,

เชื่อมั่นมาก 15.43 เปอร์เซ็นต์ เพราะมั่นใจการทำการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมคนต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยได้ และการแพทย์ของไทยมีความน่าเชื่อถือ และ 1.04 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ผู้ว่าโคราชการ์ดไม่ตก

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, อส, เจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยงทางธรรมชาติ น้ำตกวังเณร ต.มะเกลือ อ.สูงเนิน เพื่อทำความเข้าใจกับ ผู้ประกอบการร้านค้า

รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำตามแนวทางปฏิบัติที่ทางจังหวัดได้กำหนดไว้

นายวิเชียร เผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำในแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งทั้ง 32 อำเภอเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากสถานที่ใดฝ่าฝืนให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำจะพิจารณาปิดสถานที่นั้นๆ ทันที

แต่นักท่องเที่ยวสามารถไปรับประทานอาหาร นั่งพักผ่อน ร้านค้าสามารถขายสินค้า อาหารได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามอยากให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาให้ความร่วมมือกับมาตรการที่ทางจังหวัดกำหนด ให้อดทนรอ แล้วทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ตรวจเข้มลูกเรือประมงญวน

พ.ต.อ.นัฐพงศ์ ตาแก้ว รองผู้กำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมด้วย พ.ต.ต.ภราดร สวัสดี สว.สถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ พ.ต.ต.ธรรมปพน ช่างฉ่ำ สว.สถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ

สั่งการให้ชุดสืบสวนออกสืบสวนหาข่าว และสั่งการให้เรือตรวจการณ์ในสังกัดกองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำออกลาดตระเวน จับกุม และปราบปรามการ กระทำความผิดทางทะเล กระทั่งเวลา 04.30 น.ของวันที่ 11 ก.ค. บริเวณละติจูด 06 องศา 47 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 102 องศา 14 ลิปดาตะวันออก

ซึ่งห่างจากปากร่องน้ำนราธิวาสประมาณ 30 ไมล์ทะเล ตรวจพบเรือประมงสัญชาติเวียดนามกำลังเข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตการทำประมงน่านน้ำของไทย จึงจับกุมได้จำนวน 1 ลำ ตรวจสอบพบชื่อเรือ บี.ที.97184 ที.เอส พร้อมลูกเรือเวียดนามจำนวน 6 คน นำตัวทั้งหมดมายังกองบังคับการตำรวจน้ำนราธิวาส

โดยเจ้าหน้าที่จาก ร.พ.นราธิวาสราชนครินทร์ ได้เข้ามาตรวจคัดกรองเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นทั้ง 6 รายไม่พบว่ามีไข้แต่อย่างใด ก่อนนำตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนราธิวาส เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน