ทะลุคน ทะลวงข่าว : ศิษย์เก่าทรท.สายแข็ง ‘เพ้ง-อ๋อย-อ้วน-มิ้ง’ ขยับสัญญาณพรรคใหม่

ศิษย์เก่าทรท.สายแข็ง

‘เพ้ง-อ๋อย-อ้วน-มิ้ง’

ขยับสัญญาณพรรคใหม่

แม้จะยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

แต่จากสถานการณ์ของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เจอมรสุมใหญ่หลายลูก จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ทรุดหนักลงไปอีก

อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย สายแข็ง และอดีตคนเดือนตุลาฯ กลับมาเคลื่อนไหว อีกครั้ง

โดยเฉพาะสายตรงนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี

พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, ภูมิธรรม เวชยชัย และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เริ่มขยับขับเคลื่อน Thing Tank หรือพลังใหม่ทางการเมือง

ระดมความคิดจากบุคคลสำคัญในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กลุ่มทำงานด้านไอที กลุ่มทำงานด้านสตาร์ตอัพ นักวิชาการ นักเขียน และนักสื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่ง

เตรียมเปิดโรดแม็ป 3 ระยะ แก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็เคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองใหม่เช่นกัน

โดยพูดคุยกับอดีตแกนนำและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกยุบก่อนการเลือกตั้งมี.ค.2562 ซึ่งจำนวนหนึ่งยังไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

มีอดีตข้าราชการชื่อดัง นักธุรกิจและภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ร่วมด้วย

เตรียมทำงานการเมืองตามแนวทางใหม่ ไม่ใช่พรรคไทยรักษาชาติ 2 หรือเป็นสาขาของพรรคเพื่อไทย

พงษ์ศักดิ์ หรือ เสี่ยเพ้ง เกิด 16 ก.ย. 2493 พื้นเพเป็นชาวนครสวรรค์

วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำธุรกิจ เจ้าของกิจการหมู่บ้านเกศินีวิลล์ และเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์

ชอบตีกอล์ฟ จึงเข้าไปอยู่ในก๊วนกอล์ฟนักการเมืองระดับวีไอพี

ร่วมก่อตั้งพรรคปฏิวัติ เมื่อปี 2524

ปี 2526 ช่วย อุทัย พิมพ์ใจชน สร้างพรรคก้าวหน้า

ก่อนไปร่วมจัดตั้งพรรคเอกภาพ ปี 2535

2539 ย้ายสังกัดเข้าพรรคความหวังใหม่

ปี 2542 ทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทย ชักชวนร่วมงาน เป็น ผอ.พรรค

เลือกตั้งปี 2544 เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ และนั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ รมช.อุตสาหกรรม และ รมว.คมนาคม

หลังรัฐประหารปี 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

กลับมารับตำแหน่ง รมว.พลังงาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดือนต.ค. 2555

5 ก.ค. 2562 ประกาศยุติบทบาททางการเมือง ในงานเลี้ยงวันเกิดครบ 69 ปี

ถือเป็นสายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า

ยังครบเครื่องกระฉับกระเฉงพร้อมหวนคืนสังเวียนอีกครั้ง

จาตุรนต์ ชื่อเล่น ‘อ๋อย’ อายุ 64 ปี เกิด 1 ม.ค. 2499

ลูกชายคนโตของ อนันต์ ฉายแสง อดีตส.ส.ฉะเชิงเทรา และ นางเฉลียว ฉายแสง

สมัยเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ได้เป็นนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลัง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าป่าร่วมต่อสู้ทางอุดมการณ์กับนิสิตนักศึกษา

ออกจากป่าไปศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีและปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา

เล่นการเมือง ลงรับเลือกตั้งส.ส.ฉะเชิงเทรา ได้เข้าสภาสมัยแรก ปี 2529 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ย้ายไปอยู่พรรคประชาชน และพรรค ชาติไทย

ปี 2535 เข้าพรรคความหวังใหม่ ได้เข้าสภาอีกครั้ง พร้อมตำแหน่ง รมช.คลัง รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

จากนั้นมาอยู่พรรคไทยรักไทย เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหลายกระทรวง และรองนายกฯ

หลังรัฐประหาร 2549 ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จนถึงวันพรรคถูกยุบ และถูกแช่แข็ง 5 ปี

พ้นโทษแบน กลับมาเป็น รมว.ศึกษาธิการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์

หลังรัฐประหาร พ.ค.2557 เป็นนักการเมืองไม่กี่คนที่ยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์คณะทหารที่ยึดอำนาจอย่างแหลมคมต่อเนื่อง

เลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค. รับบทประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยรักษาชาติ

แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก่อนวันหย่อนบัตรไม่กี่วัน

ยังคงมีบทบาททางการเมือง แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสืบทอดอำนาจ รวมถึงรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ล่าสุดเคลื่อนไหวพูดคุยอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และกูรูผู้รู้วงการต่างๆ ปูทางเตรียมตั้งพรรคใหม่

ภูมิธรรม ชื่อเล่น ‘อ้วน’ เกิดวันที่ 5 ธ.ค. 2496

รัฐศาสตรบัณฑิต และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมัยนิสิตจุฬาฯ ถือเป็นนักกิจกรรมตัวยง หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งพรรคจุฬาประชาชน เคียงข้างเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์, เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำขบวนการนิสิตนักศึกษาสมัยนั้น

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าป่า ก่อนออกมาทำงานเอ็นจีโอจนกลายเป็นรุ่นใหญ่

ผ่านงานรอง ผอ.โครงการอาสาสมัคร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2522

หันมาทำงานบริษัทเอกชน เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานบริหารกลุ่มบริษัทชินวัตร ปี 2540

จับงานการเมือง เริ่มด้วยที่ปรึกษาคณะทำงาน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ปี 2544

เลขานุการ รมว.มหาดไทย ที่ปรึกษารองนายกฯ (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์)

รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย

ปี 2548 รมช.คมนาคม รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ

ปี 2555 สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย รับตำแหน่ง ผอ.พรรค และเลขาธิการพรรค

ก.ค. 2562 ยื่นลาออกจากเลขาธิการพรรค

ปิดฉากตำแหน่งกุนซือพรรค 21 ปี ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย

ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทน สมพงษ์ อมรวิวัฒน์

ถือเป็นกุนซือผู้ลุ่มลึกด้านยุทธศาสตร์การเมือง โชกโชนทั้งในบทบาทเบื้องหน้า เบื้องหลัง

นพ.พรหมินทร์ ชื่อเล่น ‘มิ้ง’ เกิด 5 พ.ย. 2497

อดีตประธานนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าป่านาน 5 ปี

ออกมาเรียนต่อจนจบแพทยศาสตร์ มหิดล

ทำงานแพทย์ชนบท อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น และ ผอ.ร.พ.พล จ.ขอนแก่น ก่อนถูกเรียกตัวช่วยราชการสำนักนโยบายและแผน

ออกจากราชการ เข้าทำงานไอบีซี ของตระกูลชินวัตร

บุกเบิกสถานีโทรทัศน์ที่กัมพูชา และลาว

เข้าวงการการเมืองตามคำชักชวนของทักษิณ ชินวัตร ยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่เลขาธิการนายกฯ ต่อด้วยรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ

2546 เป็น รมว.พลังงาน

หลังรัฐประหาร 2549 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย

หายเงียบจากแวดวงการเมืองหลายปี ก่อนกลับมาอีกครั้งในฐานะสายตรงทักษิณ

เดินสายพบปะบุคคลแวดวงต่างๆ นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน

รวบรวมทีมผู้รู้ผู้มากประสบการณ์ขับเคลื่อนพรรคการเมืองใหม่

หาทางออกให้ประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตต่างๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน