คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ดร.เจเรมี มุนเดย์ จากสมาคมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยโครงการวิจัย “หน้าต่างอัจฉริยะ” ที่เปลี่ยนฟิลเตอร์ให้เข้มขึ้นเพื่อป้องกันแสงแดดแรง หรือเปลี่ยนเป็นใสเพื่อเปิดรับแสงสว่างให้เพิ่มในวันที่มีเมฆหมอกครึ้ม รวมถึงปรับให้ทึบเพื่อความเป็นส่วนตัวได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้ม่าน

หน้าต่างดังกล่าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์ขับเคลื่อนระบบอัจฉริยะ ผ่านผลึกเหลวที่บรรจุในวัสดุเชิงประกอบเนื้อ พอลิเมอร์ และเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากอะมอร์ฟัสซิลิคอน ประกบด้านหน้าหลังด้วยกระจก เมื่อหน้าต่างอยู่ในโหมดปิดการใช้งาน ผลึกเหลวจะกระจายแสงและทำให้กระจกมีลักษณะทึบ

ส่วนโหมดเปิดการใช้งานนั้น ชั้นซิลิคอนจะดูดซับแสงและนำมาใช้เป็นพลังงานสำหรับปรับแนวการเรียงตัวของผลึกเหลว เพื่อให้แสงสามารถผ่านเข้ามา และทำให้หน้าต่างเปลี่ยนเป็นลักษณะโปร่งใสได้นั่นเอง

ทั้งนี้ หน้าต่างอัจฉริยะที่พัฒนาในปัจจุบัน ตอบสนองต่อแสงหรือความร้อนถึงจะทำงานปรับเปลี่ยนสภาพได้ นั่นหมายความว่าในช่วงที่อากาศเย็น และมืดครึ้ม หน้าต่างไฮเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ต่างจากสุดยอดหน้าต่างของดร.มุนเดย์ที่ปรับเปลี่ยนเกือบทุกสภาพอากาศเพื่อให้ห้องและภายในอาคารมีแสง สว่างในปริมาณที่เหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน