‘สสวท.’ จัดงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ครั้งที่ 13 สร้างบัณฑิตช่วยพัฒนาประเทศ ดึงนักเรียนทุน พสวท. โชว์ผลงานงานวิจัยวิทยาศาสตร์เด่น-ด้าน “ผอ.สสวท.” เผยยอดผลิตบัณฑิตหัวกะทิจบแล้ว 1,324 คนพร้อมกลับมารับใช้ชาติ

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 13 หัวข้อ “นวัตกรรมสร้างสรรค์สู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน”

เยาวชนเข้าร่วมงาน

โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ และสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เข้ารับทุนศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายยังศูนย์โรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจัดให้มีกิจกรรมเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการอย่างเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหรืออาจจะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อต่างประเทศ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ให้กลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์หรืออาจารย์ในหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ยังใช้องค์ความรู้สร้างนวัตกรรมต่อยอดการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการที่จะส่งผลต่อภาพรวมในการพัฒนาประเทศด้าน ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สสวท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้รับทุน พสวท.ที่กำลังศึกษา จำนวน 1,672 คน และมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 1,324 คน ซึ่งปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของภาครัฐทั่วประเทศ โดยบัณฑิต พสวท. มีผลงานที่มีคุณภาพเชิงประจักษ์ ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 2 คน และได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จำนวน 23 คน มีผลงานได้รับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากกว่า 200 เรื่อง และมีผลงานเชิงวิชาการตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ รวมมากกว่า 7,200 เรื่อง

“นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยยังเป็นสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลน สสวท.จำเป็นที่จะต้องสร้างกำลังคนด้านเหล่านี้ เข้ามาพัฒนาประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศักยภาพด้านเทคโนโลยี สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตอบสนองความจำเป็นในการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไป” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน