“จันท์เกษม รุณภัย”

จากความเดิมตอนที่แล้วซึ่งทางหลากและหลายได้รับโอกาสเดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่ของค่ายดาวรุ่งแวดวงไอทีอย่างหัวเว่ยที่ประเทศจีน และรับทราบถึงความเป็นมาของหัวเว่ยตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา กระทั่งกลายมาเป็นราชาธุรกิจโทรคมนาคมโลกในปัจจุบัน

ทาง หัวเว่ย ยังนำคณะสื่อมวลชน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เข้าชมศูนย์วิจัยและพัฒนา หรืออาร์แอนด์ดี ที่กรุงปักกิ่งด้วย โดยศูนย์นี้ตามชื่อ คือทำหน้าที่พัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การทดสอบฟังก์ชัน การใช้งาน ความทนทานการประกอบ ไปจนถึงการตกกระแทกพื้นต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมานั้นสมบูรณ์แบบที่สุด

คณะสื่อได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพได้บางส่วน แต่ห้ามเพ่นพ่านออกนอกเส้นทาง

ศูนย์อาร์แอนด์ดีของหัวเว่ยที่คณะสื่อไทยและชาติเพื่อนบ้านได้เข้าชมก่อตั้งขึ้นที่กรุงปักกิ่งในไตรมาสที่ 4 ของเมื่อปี 2559 ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 23 ห้อง แบ่งเป็น 9 ประเภท กินพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตร

ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีเครื่องมืออันทันสมัยกว่า 7,000 เครื่อง สนับสนุนการทดสอบกว่า 280 รูปแบบ เป็นศูนย์วิจัยทดสอบที่ดีที่สุดในประเทศจีน ควบคุมด้วยมาตรฐานสากล ซึ่งการเข้าชมของคณะสื่อนั้นแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ของศูนย์แห่งนี้

ศูนย์ทดสอบเครื่องอัตโนมัติ

(Automated End Device Test Center)

ห้องวิจัยนี้มีเครื่องทดสอบอัตโนมัติถึง 800 เครื่องสำหรับการทดสอบสมาร์ตโฟน 5,000 เครื่องได้ในเวลาเดียวกัน ห้องวิจัยแห่งนี้สนับสนุนการทำงานของแผนกต่างๆ ทั้งการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ การทดสอบผลิตภัณฑ์ และฝ่ายบำรุงรักษาระบบปฏิบัติงานต่างๆ ช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือซอฟต์แวร์ที่ไร้ข้อผิดพลาดให้เร็วที่สุด

ระบบอัตโนมัติในศูนย์วิจัยนี้ทำงานได้เทียบเท่ากับการทำงานของพนักงาน 10,000 คน ตลอด 24 ชั่วโมง แบบไม่มีวันหยุด ถือเป็นศูนย์วิจัยระดับชั้นนำของอุตสาหกรรม สามารถทำวิจัยได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับของกูเกิ้ล

ห้องปฏิบัติการทดสอบระบบสื่อสาร

(The Communication Protocol Test Lab)

ห้องปฏิบัติการนี้สามารถรองรับมาตรฐานการสื่อสารและคลื่นวิทยุทุกประเภทเพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้หลากหลายมากที่สุด โดยสามารถจำลองเครือข่ายของ 14 ประเทศ 36 เมือง และสภาพแวดล้อมกว่า 100 รูปแบบ เช่น ภูเขา สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต โดยสามารถจำลองสัญญาณได้มากถึง 50 สัญญาณในเครือข่ายรูปแบบต่างๆ ถือเป็นศักยภาพสูงสุดในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังสามารถจำลองมาตรฐานการสื่อสารและคลื่นความถี่ได้ทุกประเภทเพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้ได้มากรูปแบบที่สุดกว่า 1,000 แบบ จากเครือข่ายผู้ให้บริการขนาดใหญ่ได้กว่า 20 ราย ทั้งยังสามารถจำลองสภาพการสื่อสารที่หลากหลายทั้งการใช้เสียง การใช้ข้อมูล การค้นหาอินเตอร์เน็ต รวมไปถึง VoWifi, VoLTE, CA และ MIMO ถือเป็นห้องวิจัยเดียวที่ระบบ Wi-Fi มีการผสานการทำงานของทั้ง CDMA และ GUTL เข้าด้วยกัน

ห้องปฏิบัติการทดสอบเสถียรภาพ

(Reliability Lab)

กล่าวง่ายๆ คือ ห้องนี้เปรียบได้ราวกับเป็นห้องทรมาน เพราะต้องการทดสอบความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ด้วยการจำลองสถานการณ์การใช้งานต่างๆ เพื่อปรับปรุงความทนทานของ สมาร์ตโฟนหัวเว่ย ระดับความล้า ความคงทน แรงกระทำเชิงกล ระดับความทนทานของส่วนประกอบต่างๆ ความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน ความทนทานต่ออุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสุดขั้ว รวมทั้งการกระจายความร้อน

การวิจัยความคงทนของผลิตภัณฑ์สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์โดยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่เทียบเท่าการใช้งานสมาร์ตโฟนในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ซึ่งขั้นตอนการทดสอบต่างๆ จะทำในขั้นต่ำเป็นหลักล้านครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การทดสอบการตกกระแทกจะจำลองการตกหล่นของสมาร์ตโฟนในระดับความสูงและสถานการณ์ต่างๆ เทียบเท่าของจริง ระดับความทนทานต่อความชื้นของสมาร์ตโฟนหัวเว่ยอยู่ในระดับ IPX2 คือทนต่อละอองฝน ละอองน้ำจากการสาดหรือหกใส่ ส่วนระดับความทนทานต่อทรายและฝุ่นนั้นจะอยู่ที่ระดับ 5 หรือ 6 คือป้องกันอุปกรณ์จากฝุ่นที่เกาะตัวหรือฝุ่นทรายที่อาจจะปลิวมากระทบสมาร์ตโฟน

ส่วนการทดสอบความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนในห้องวิจัยนี้จะครอบคลุมถึงการสั่นสะเทือนระดับต่ำในชีวิตประจำวัน ทั้งการใช้งานในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น รถยนต์ จักรยาน รวมถึงแรงสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนยานพาหนะหรือสถานที่ที่มีการสั่นไหวรุนแรงเป็นเวลาขั้นต่ำ 3 ชั่วโมงด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบจำลองสภาพแวดล้อมที่ระดับน้ำทะเลหรือริมชายหาดเพื่อศึกษาการใช้งาน อีกทั้งยังจำลองอุณหภูมิสูง-ต่ำ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน (ทดสอบมากกว่า 240 ชั่วโมง) รวมทั้งสภาพเปียกหรือชื้น รวมถึงการเผชิญกระแสลมแรงเทียบเท่าพายุทอร์นาโด เพื่อให้แน่ใจว่าสมาร์ตโฟนหัวเว่ยแน่นหนา ซึ่งการทดสอบต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ ของทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่นๆ โดยส่วนใหญ่

ห้องปฏิบัติการทดสอบเสารับสัญญาณ

(Antenna Test Lab)

ห้องนี้จะศึกษา หรือทดลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการสื่อสารทางโทรศัพท์ การเชื่อมต่อข้อมูลที่รวดเร็วและการใช้ GPS ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมให้ผู้ใช้ โดยห้องวิจัยเสาสัญญาณนี้ประกอบด้วย ห้องทดสอบที่ไร้การสะท้อนของคลื่นไมโครเวฟ ห้องทดสอบการสะท้อนกลับของคลื่น และห้องทดสอบที่มีความแม่นยำสูงสุด

ทางหัวเว่ยยังให้ความรู้ด้วยว่า หากผู้ใช้สังเกตสมาร์ตโฟนของตัวเองที่ตัวเครื่องทำจากอะลูมิเนียมจะพบขีดสีขาวอยู่รอบๆ ตัวเครื่อง จุดนี้เป็นพลาสติกเพื่อให้สัญญาณสามารถรับส่งผ่านเข้าไปยังตัวรับส่งสัญญาณได้ เนื่องมาจากโลหะถือเป็นวัสดุ ลดสัญญาณ

ห้องปฏิบัติการด้านเสียง (Audio Lab)

ห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยมีอุปกรณ์สำหรับพัฒนาอุปกรณ์ด้านเสียง อัลกอริธึม และตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสียงกว่า 200 ชิ้น ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับฟังเสียงที่ดีที่สุดจากสมาร์ตโฟน โดยห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยเป็นห้องวิจัยด้านเสียงแห่งเดียวในจีนที่สามารถทำการทดสอบต่างๆ ตามเกณฑ์ของกลุ่ม 3GPP, Vodafone ซึ่งเป็นมาตรฐานกลุ่มผู้พัฒนาโทรศัพท์ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมาตรฐานสากลอื่นๆ

ห้องวิจัยนี้ช่วยให้หัวเว่ยสามารถทดสอบอุปกรณ์ก่อนวางจำหน่ายร่วมกับผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง AT&T, Vodafone, Verizon และอื่นๆ ได้ และเป็นห้องวิจัยในประเทศจีนแรกที่ผ่านเกณฑ์การลดเสียงรบกวน 3PASS noise reduction test system อันเป็นมาตรฐานล่าสุดของสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) เนื่องจากยังไม่มีห้องวิจัยอื่นใดที่ได้รับการรับรองนี้เพิ่มเติมในปัจจุบัน จึงถือว่าห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ย เป็นหนึ่งในห้องวิจัยที่มีระบบทดสอบการลดเสียงรบกวนที่ดีที่สุดของโลก

ส่งท้ายทริปท่องอาณาจักรหัวเว่ย คณะสื่อมวลชนรวมมิตร 4 ประเทศยังได้รับโอกาสเข้าเยี่ยมชมหนึ่งในโรงงานผลิตสมาร์ตโฟนของหัวเว่ย ที่นครเสิ่นเจิ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่หัวเว่ย

ระบบการรักษาความปลอดภัยนั้นเข้มงวดอย่างมาก ทางคณะสื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ และบันทึกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งก่อนเข้ายังต้องถอดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดฝากเก็บไว้ และสวมชุดหมวกพร้อมชุดกาวน์ ผ่านเครื่องตรวจโลหะ 2 ชั้น แบบที่ท่าอากาศยาน แม้แต่หูฟังก็ห้ามเอาเข้า (จ๊ากกก!)

โรงงานที่เข้าไปนี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องอัตโนมัติทั้งหมด แต่จะมีเจ้าหน้าที่คุมสายการผลิตยืนประจำจุดอยู่ในบางส่วนที่ต้องการแรงงานมนุษย์ ลักษณะการวางก็เป็นสายพานยาวๆ เป็นเส้นตรงไป แต่ละช่วงมีเครื่องอัตโนมัติครอบไว้ แยกเป็นส่วนๆ เริ่มตั้งแต่การนำแผงเมนบอร์ดมาตรวจวัดด้วยแสงเลเซอร์ การปรินต์แผงวงจร การยิงกาว บัดกรี ไปจนถึงประกอบจนเป็นรูปเป็นร่าง แทบจะเป็นเครื่องทำทั้งหมด จึงมีความแม่นยำสูงมาก โดยแต่ละช่วงจะมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพเป็นระยะว่าประกอบออกมาได้ตรงตามมาตรฐานหรือไม่

สายการผลิตที่ทางหลากและหลายได้ชมน่าจะเป็นเครื่องเรือธงใหม่ล่าสุดของค่าย หรือเจ้าพวกตระกูลพี 20 อันลือลั่นนั่นเอง ซึ่งสายการผลิตที่ว่านี้ก็วางเรียงซ้อนกันถัดๆ เข้าไปภายในโรงงาน แต่ทางคณะได้ชมเพียงสายด้านนอกสุดเท่านั้น

ทางเจ้าหน้าที่ของหัวเว่ย ระบุว่า สายการผลิตหนึ่งๆ นั้นผลิตเครื่องพี 20 ได้ถึง 2,800 เครื่องต่อวัน ขณะที่บรรดา เจ้าหน้าที่ในโรงงานผลิตที่อยู่ตามสายนั้นทำงานแบ่งกันเป็น 2 กะ กะละ 8 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วเครื่องพี 20 ที่ซื้อๆ กันมานั้นใช้เวลาผลิต 28.5 วินาทีต่อเครื่อง ไม่ขาดไม่เกิน

ที่น่าสนใจ หลังผลิตใส่กล่องรวมกันได้ครบแพ็กแล้ว ทางหุ่นยนต์อัตโนมัติของหัวเว่ย มีลักษณะเป็นรถเล็กๆ 4 ล้อ พร้อมถาดด้านบนที่มีแขนหยิบโทรศัพท์ใส่ถาดได้เองจะแล่นมารับสินค้าเพื่อนำไปเก็บไว้ในโกดังรอการส่งออกไปจำหน่าย หุ่นอัตโนมัติพวกนี้เจ้าหน้าที่หัวเว่ยตั้งชื่อให้มันว่า “โรเบิร์ต” สร้างความประทับใจให้คณะสื่อมวลชน น่าเสียดายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ

สรุปได้ว่า หัวเว่ยเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ทางด้านโทรคมนาคมของโลก ไม่ได้เป็นเพียงค่ายสมาร์ตโฟนอย่างที่บางคนเคยเข้าใจ ทั้งยังมีความเป็นสากลสูงด้วยการมีฐานพัฒนากระจายอยู่ทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยแม้ชื่อจีน แต่เนรมิตขึ้นจากฝีมือของคนทั่วโลก ด้วยจุดเด่นนี้เองทำให้หัวเว่ยมีความได้เปรียบกว่าหลายค่ายอื่นๆ ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ และการผลิต นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อย่างที่นายเคลเมนต์ หว่อง หัวหน้าฝ่ายการตลาดระดับโลกของกลุ่มซีบีจี ระบุไว้

“จากประสบการณ์ทำงานที่หัวเว่ยของผมพบว่า ลักษณะของผู้ที่ทำงานกับหัวเว่ยจะขยันและอุทิศตน มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และมีเจตนารมณ์เดียวกันคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทำแบบที่มันว้าวอ่ะครับ (หัวเราะ)”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน