ชุดตรวจวินิจฉัยภาวะออทิสติกในเด็ก ผลงานสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์

รายงานพิเศษ หน้าสุขภาพ หนังสือพิมพ์ข่าวสด

กรมสุขภาพจิตได้วิจัยพัฒนาเครื่องตรวจวินิจฉัยภาวะออทิสติกในเด็กไทยโดยเฉพาะเป็นผลสำเร็จ สามารถพบความผิดปกติของเด็กได้เร็วกว่าเดิมตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบ โดยจดลิขสิทธิ์เป็นภูมิปัญญาของประเทศแล้ว

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็กเล็กที่ กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการป้องกันแก้ไขขณะนี้คือ ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งพบมากในอันดับต้นๆ ของเด็กไทย สาเหตุเกิดจากความผิดปกติการทำงานของสมองตั้งแต่กำเนิด

ชุดตรวจวินิจฉัยภาวะออทิสติกในเด็ก

เด็กกลุ่มนี้ลักษณะภายนอกจะไม่ผิดปกติ ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงน่ารัก แต่เด็กจะมีพัฒนาการบกพร่อง 2 ด้านหลักคือ ไม่สามารถใช้ภาษาสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้ และมีพฤติกรรมความสนใจที่มีลักษณะแคบจำกัดหรือเป็นแบบแผนพฤติกรรมซ้ำๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่าเกิดมาจากการเลี้ยงดูหรือถ่ายทอดมาจากบุคลิกของพ่อแม่ ไม่ได้เป็นอะไร ทำให้เด็กไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง กลายเป็นผู้ที่มีความพิการตลอดชีวิต

สถานการณ์ของภาวะออทิสติกในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมาก ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2558 พบเด็กไทยอายุ 0-5 ปีมีอัตราป่วย 6 ต่อ 1,000 คน เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัวในรอบ 11 ปี คาดว่าทั่วประเทศมีประชาชนไทยทุกวัยเป็นออทิสติกประมาณ 400,000 คน มีรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5,000 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน เข้าถึงบริการรักษาฟื้นฟูแล้วร้อยละ 44

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวต่อว่า เด็กที่เป็นออทิสติกนี้สามารถรักษาได้ แม้ไม่หายขาดแต่จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ เรียนหนังสือ และทำงานได้เช่นเดียวกันคนทั่วไป

โดยผลการรักษาจะดีที่สุดเมื่ออายุต่ำกว่า 3 ขวบ แต่ที่ผ่านมาการรักษาส่วนใหญ่จะเริ่มหลังอายุ 3 ขวบไปแล้ว เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในปัจจุบันเป็นของต่างประเทศ บางส่วนไม่เหมาะกับบริบทของเด็กไทย จึงได้เร่งพัฒนาระบบการดูแลรักษา

ในปีนี้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดของเด็กที่เป็นออทิสติกได้ตั้งแต่อายุ 12-48 เดือนเป็นผลสำเร็จ เรียกว่า ทีดาส (Thai Diagnostic Autism Scale : TDAS) เป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัยสำหรับเด็กไทยโดยเฉพาะ

“จากการทดลองใช้ทั้ง 4 ภาค พบว่ามีความแม่นยำสูงได้มาตรฐานเทียบเท่าเครื่องมือระดับนานาชาติ ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสติกเครื่องมือแรกของประเทศ และได้นำเสนอความสำเร็จนี้ในเวทีประชุม ออทิสติกโลก (International Conference on Autism) ซึ่งจัดที่ประเทศอังกฤษ คาดว่าจะนำใช้ทั่วประเทศในปี 2562 นี้ มั่นใจว่าจะช่วยเด็กที่เป็นออทิสติกได้รับการรักษาเร็วขึ้นตั้งแต่ยังเล็ก จะคลายทุกข์ใจให้พ่อแม่ได้อย่างมาก” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

พญ.ดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญประจำสถาบันพัฒนาการเด็กฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ดำเนินการระหว่างพ.ศ.2559-2561 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ชุดเครื่องมือตรวจวินิจฉัย จะมีชุดอุปกรณ์ของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็กซึ่งได้จากการวิจัยทั้งหมด 12 รายการ ได้แก่ รถยนต์ ลูกบอล หุ่นรูปสัตว์ บล็อกไม้ โทรศัพท์ของเล่น ตุ๊กตาเด็ก ของเล่นเสริมทักษะพัฒนาการ 5 ด้าน คือการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กหยิบจับ พัฒนาการภาษา การมอง การใช้มือและการได้ยิน พัดลมตั้งโต๊ะจิ๋ว กล่องใส ชุดเป่าฟองสบู่ ชุดเครื่องครัวและอาหารจำลอง และผ้าสี่เหลี่ยม รวม 47 ชิ้น ใช้ต้นทุนผลิต 10,500 บาท

การใช้จะต้องใช้ 2 ส่วนประกอบกัน คือ 1.การสัมภาษณ์ผู้ปกครองครอบคลุมทั้งด้านความบกพร่องในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กในหลายๆ สถานการณ์ และด้านพฤติกรรมความสนใจของเด็ก และ 2.การสังเกตพฤติกรรม

โดยบุคลากรจะสังเกตเด็กขณะเล่นชุดเครื่องมือใน 6 กิจกรรมทดสอบ ได้แก่ 1.กิจกรรมการเล่นอิสระ 2.กิจกรรมการเรียกชื่อ 3.กิจกรรมเก็บของเล่นใส่กล่อง 4.กิจกรรมเป่าฟองสบู่ 5.กิจกรรมทำอาหาร 6.กิจกรรมจ๊ะเอ๋ และปูไต่ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

พญ.กาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์ รักษาการ ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เด็กที่เป็นออทิสติกที่พบโดยทั่วไปร้อยละ 50 จะไม่สามารถพูดสื่อสารได้ อีกประมาณร้อยละ 50 จะมีระดับไอคิวต่ำด้วย

“ในช่วงขวบปีแรกเด็กมักจะไม่สบตา หน้าตาเฉยเมย เรียกชื่อก็ไม่หันมอง ไม่ยิ้มตอบ ไม่หัวเราะ ไม่ชอบให้อุ้ม ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใดๆ ไม่มีภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร เช่น การชี้นิ้วบอกความต้องการ ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่งเสียง ซึ่งเป็นอาการที่ตรงกันข้ามกับเด็กปกติ ประชาชนทั่วไปมักจะพูดว่าเป็นเด็กเลี้ยงง่าย เพราะไม่ค่อยงอแง” พญ.กาญจนากล่าว

พญ.กาญจนากล่าวอีกว่า อาการผิดปกติจะเริ่มเห็นชัดขึ้นในขวบปีที่ 2 เด็กจะพูดเป็นคำๆ ไม่ได้ และพูดภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย หรือที่เรียกว่าภาษาจากอน (Jagon) ที่ตัวเองเข้าใจคนเดียว

เครื่องมือทีดาส สำหรับตรวจวินิจฉัยเด็กที่เป็น ออทิสติกของไทยชุดนี้ จะใช้ในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยขั้นยืนยันในกลุ่มเด็กอายุ 12-48 เดือน ที่ตรวจพบว่ามีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติ โดยบุคลากรสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กได้แก่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา และนักแก้ไขการพูดสามารถใช้ได้ด้วย

“ซึ่งหลักการวินิจฉัยเด็กที่เป็นออทิสติกจะต้องใช้เครื่องมือประเมินเพื่อสังเกตอาการและพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกประกอบการพิจารณาของแพทย์ด้วย ช่วยให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วก่อนอายุ 3 ขวบ และได้รับการรักษาฟื้นฟูต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงที่เซลล์ประสาทในสมองกำลังพัฒนาการทำงาน สมองก็จะได้รับการกระตุ้นและกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ความบกพร่องทางพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กจะน้อยลงรวมทั้งมีผลต่อไอคิวด้วย จะฉุดไอคิวขึ้นมาทัดเทียมกับเด็กที่มีพัฒนาการปกติ หากเด็กได้รับการฝึกให้สื่อสารใช้ภาษาได้เร็วจะลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ดีด้วย” พญ.กาญจนากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน