คอลัมน์ หมุนก่อนโลก

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานผลการศึกษาหลุมดำในอวกาศชิ้นล่าสุดของทีมนักวิจัยชาวอเมริกัน นำเสนอในการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ครั้งที่ 227 ว่า หลุมดำไม่ได้เพียงดูดกลืนทำลายล้างวัตถุในอวกาศอย่างที่เข้าใจกัน แต่ยังพ่นก๊าซออกมาในอวกาศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกลุ่มดาวด้วย

บทสรุปดังกล่าวมาจากการศึกษาหลุมดำใจกลางกาแล็กซี NGC 5195 อยู่ห่างจากโลก 26 ล้านปีแสง โดยใช้ภาพเอกซเรย์ที่ได้จากกล้องสำรวจแชนดราของสำนักงานการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซ่า พบส่วนโค้งของก๊าซ ชั้นหนึ่งบางเป็นก๊าซไฮโดรเจนที่เย็นกว่า ส่วนอีกชั้นเป็นก๊าซที่มาจากใจกลางกาแล็กซี มีอุณหภูมิร้อนกว่า

ปรากฏเป็นภาพหลุมดำขนาดมหึมาที่อยู่ไกลโลกมากที่สุดแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของพลังงานที่จู่ๆ พ่นก๊าซออกมา ในจังหวะที่หลุมดำระเบิดตัวด้วยมวลที่มีมากพอสำหรับการฟอร์มตัวของกลุ่มดาวใหม่

“มันเหมือนกับหลุมดำเรอออกมาหลังจากกินข้าวเข้าไป” เอริก ชเลเกิล ผู้นำการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส กล่าวเปรียบเปรย และว่า “การสำรวจของเราสำคัญเพราะพฤติกรรมนี้เหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงตั้งต้นของจักรวาล ช่วงปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการของกาแล็กซี มันเป็นเรื่องปกติที่หลุมดำขนาดใหญ่จะพ่นก๊าซออมา แต่ยากที่จะได้เห็นชัดๆ แบบนี้”

ด้าน มารี มาชาเซก ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา จากศูนย์ ดาราฟิลิกส์ ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน กล่าวว่า การระเบิดของก๊าซเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ระหว่างหลุมดำขนาดมหึมากับกาแล็กซีเจ้าถิ่น

“เราคิดว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อกันนี้ทำให้กาแล็กซีขยายออกไปเรื่อยๆ และในเวลาเดียวกัน มันเป็นตัวทำให้เกิดการก่อตัวของกลุ่มดาว และนี่แสดงให้เห็นว่า หลุมดำสร้างได้ด้วย ไม่ใช่ทำลายอย่างเดียว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน