เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมก. กล่าวถึงการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ว่า จัดระหว่างวันที่ 27 ม.ค. – 4 ก.พ. ที่ มก. บางเขนภายใต้แนวคิด “ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน”

ภายในงานนำเสนอผลงานนวัตกรรม ที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยนักวิจัย 59 เรื่อง มาแสดงด้วย อาทิ แอฟพลิเคชั่น นิล 4.0 พลังงานที่ยั่งยืน เครื่องสีข้าวครัวเรือนพร้อมพา วัสดุก่อสร้างจากเปลือกไข่เหลือทิ้ง EMARBLE และที่นั่งรูปไข่ที่ทำจาก EMARBLE

ผงเชื้อและสารออกฤทธิ์สำเร็จรูปเพื่อป้องกันโรคกล้วยไม้ เครื่องทำน้ำค้าง เอนไซม์ขอดเกล็ดปลา เครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง 5 ทศวรรษเกษตรที่สูงตามรอยพ่อหลวง ชุดปลูกผักปลอดภัยระบบประหยัดพลังงาน และเครื่องตากข้าวเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ เป็นต้น

นายจงรักกล่าวว่า ในงานนี้ยังมีตลาดนัดไอเดีย ไอโดน ของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มาร่วมจัดแสดงด้านอาหารโดยเฉพาะ เช่น แยมมะเขือเทศลดน้ำตาล เบต้าไซยานินจากเปลือกแก้วมังกร กุยช่ายสำหรับผู้มีปัญหาการขบเคี้ยว เป็นต้น


ด้าน ผศ.ดร. มณฑล ฐานุตตมวงศ์ ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องสร้างน้ำค้าง กล่าวว่า เครื่องสร้างน้ำค้าง หรือสโลแกนว่า อากาศดื่มได้ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่นำปรากฏการณ์ของการเกิดน้ำค้างในธรรมชาติมาประยุกต์ใช้เป็นน้ำดื่มในยามฉุกเฉิน อย่างกรณีอยู่ในป่าหรือในเรือเป็นเวลานานๆ

จากการศึกษาวิธีการเก็บน้ำค้างที่ผ่านมาพบว่า วิธีการเก็บน้ำค้างเพื่อนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะต้องมีการใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำค้างจำเป็นต้องใช้พื้นที่ผิวในการยึดเกาะ ดังนั้นคณะนักวิจัย จึงได้ศึกษาอุปกรณ์ที่ให้ความเย็น และพัฒนาการสร้างเครื่องผลิตน้ำค้าง (Dew formation) พบว่า เทอร์โมอิเล็กทริก (Thermoelectrics) ใช้เป็นต้นกำเนิดความเย็นได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้เทอร์โมอิเล็กทริกเป็นส่วนประกอบในตู้เย็นขนาดเล็ก เช่น ตู้เย็นพกพา (USB Mini Fridge) ตู้เย็นแช่วัคซีน เป็นต้น


สำหรับนวัตกรรม เครื่องสร้างน้ำค้าง มีน้ำหนัก 1,931 กรัม มีขนาด 13 เซ็นติเมตร x 13 เซ็นติเมตร x 22 เซ็นติเมตร ใช้กำลังไฟฟ้ากระแสตรง 39 วัตต์ จากแหล่งพลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือชุดอุปกรณ์โซล่าเซลล์ สามารถผลิตน้ำสะอาดจากการควบแน่นความชื้นในอากาศ โดยลดอุณหภูมิบนแผงทำความเย็นให้มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดน้ำค้าง เพื่อใช้เป็นน้ำดื่มในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประยุกต์ใช้กับเรือสำรวจทางทะเล แคมป์สำรวจป่า โดยมีอัตราผลิตน้ำสูงสุดวันละ 360 มิลลิลิตร เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่ายและซ่อมบำรุงรักษาได้ง่าย
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร. มณฑล ฐานุตตมวงศ์ นายฐิติพงศ์ กุฎีพันธ์ และนายปรัชญา จันทร์ศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มก. โทร 02 – 797 – 0999 แฟ็กซ์ 02 – 579 – 2775 Email [email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน