ฟ้าเจาะรู ปรากฏการณ์น่าดูชม เกี่ยวข้องกับ ‘เบียร์วุ้น’ อย่างไร?

ฟอลล์สตรีคโฮล เกี่ยวข้องกับ เบียร์วุ้น อย่างไร?

คอลัมน์ : Weather Wisdom โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ช่วงหน้าหนาวนี่ บ้านเราอาจมีปรากฏการณ์แปลกๆ บนฟ้าให้ชมด้วยเช่นกัน อย่างถ้าย้อนเวลากลับไปวันขึ้นปีใหม่ของปี 2559 ก็มีเมฆรูปร่างประหลาดเหนือฟ้าเมืองแพร่ ลองดูภาพที่ 1 ของ คุณเจน ปิยะรัตน์ มณีกาศ สิครับ

ฟอลล์สตรีคโฮล 1 ม.ค. 2559 เวลา 12.49 น. ต.บ้านเหล่า อ.สูงเม่น จ.แพร่ ภาพ: ปิยะรัตน์ มณีกาศ

คุณเจนเป็นคนรักเมฆพันธุ์แท้ ทำให้เก็บภาพท้องฟ้าสวยงามแปลกตาได้อยู่เรื่อยๆ เธอเล่าว่า

“1.. 2559 ฤกษ์งามยามดี วันนี้ใกล้บ้านมีงานแต่ง หลังจากไปร่วมจัดเตรียมงานและทานอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งเสวนาเรื่องสัพเพเหระกับเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นมีคนทักขึ้นมาว่า ทำไมวันนี้บรรยากาศอึมครึมเหมือนฝนจะตกหรือเปล่า เราก็แหงนมองขึ้นไปดูบนท้องฟ้าแว่บแรก ว้าว! เจอวงแหวนสีรุ้ง (ซันโคโรนา) ด้วย แต่พอกวาดสายตาไปด้านขวาอีกนิด ก็แอบกรี๊ดในใจ เพราะเจอเมฆอะไรก็ไม่รู้ รูปร่างแปลกๆ จะช้าอยู่ใย รีบบอกลาเจ้าภาพ แล้วชิ่งกลับไปเอากล้องที่บ้าน เพื่อเก็บภาพอันแสนตื่นตาตื่นใจ นำมาฝากเพื่อนๆ คนรักเมฆรักฟ้าในชมรมคนรักมวลเมฆดีกว่า

เรื่องน่าบังเอิญก็คือ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆอีกคนหนึ่ง คือ คุณอ๊าต กิตติศักดิ์ นวลวิไล ได้เดินทางมาที่จังหวัดแพร่ในช่วงเวลาเดียวกัน และก็เก็บภาพเมฆพิสดารนี้ได้ด้วยเช่นกัน คุณอ๊าตบอกว่าตอนนั้นอยู่ใกล้ๆ ปั๊มน้ำมันเชลล์ แยกเด่นชัย จ.แพร่

ฟอลล์สตรีคโฮล 1 ม.ค. 2559 เวลา 12.30 น. แยกเด่นชัย จ.แพร่ ภาพ: กิตติศักดิ์ นวลวิไล

คุณอ๊าตเล่าเสริมว่า

ถือเป็นโชคดีรับปีใหม่เลยครับที่ผมมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้า 2 อย่างพร้อมกัน คือ ฟอลล์สตรีคโฮลและซันโคโรนา ระหว่างเดินทางจากอุตรดิตถ์มาจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะฟอลล์สตรีคโฮลนี่ผมเพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรกในชีวิต เสียดายที่อยู่ไกลไปหน่อยแต่ก็ยังโชคดีที่ผมพกเลนส์ TelePhoto (55-210) ไปด้วย เลยดูดภาพมาได้เท่าที่มันสามารถ วันนั้น..ฟ้าสวยตลอดเส้นทางจริงๆ นี่ถ้าผมขับรถมาคนเดียว คงจอดยิงกระต่าย เอ้ย! จอดถ่ายเมฆตลอดทางแน่ๆ 5555”

ชื่อของเมฆพิสดารนี้ที่คุณอ๊าตพูดถึงคือ ฟอลล์สตรีคโฮล (fallstreak hole) นั้นถูกต้อง จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาเรียนรู้เพิ่มเติมกันครับ

ก่อนอื่น ควรรู้ด้วยว่าการเกิดฟอลล์สตรีคโฮลมีแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเบียร์วุ้นอยู่ด้วย ส่วนจะเกี่ยวกันยังไงนั้น ก็ต้องรู้จัก น้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled water)” ก่อน ลองชมคลิปแสดงพฤติกรรมของน้ำเย็นยิ่งยวดต่อไปนี้ครับ

ในคลิปมี 2 การทดลองย่อย แต่เริ่มต้นเหมือนกันคือแช่ขวดน้ำซึ่งมีน้ำบรรจุอยู่เกือบเต็มไว้ในช่องฟรีซเซอร์จนน้ำมีอุณหภูมิติดลบ (ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส) แต่ยังคงเป็นของเหลวอยู่ น้ำที่มีลักษณะเช่นนี้เรียกว่าน้ำเย็นยิ่งยวดหรือ “supercooled water” นั่นคือน้ำที่ยังไม่กลายเป็นน้ำแข็งแม้ว่ามีอุณหภูมิติดลบ

การทดลองแรก ซึ่งในคลิปเรียกว่า Nucleation by shaking (การก่อผลึกเริ่มต้นโดยการเขย่าขวด) เริ่มจากค่อยๆ ประคองขวดตั้งขึ้นอย่างระมัดระวัง จากนั้นก็กระแทกก้นขวดบนพื้นโต๊ะ ผลก็คือ น้ำเย็นยิ่งยวดกลายเป็นน้ำแข็งเริ่มจากผิวด้านบน (ซึ่งกระเพื่อมอย่างแรงเนื่องจากการกระแทก) ไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงด้านล่าง

การทดลองที่สอง ซึ่งในคลิปเรียกว่า Nucleation by seeding with ice crystal (การก่อผลึกเริ่มต้นโดยการเติมผลึกน้ำแข็ง) มีการหยอดน้ำแข็งเม็ดเล็กๆ ลงไป ผลก็คือ น้ำเย็นยิ่งยวดกลายเป็นน้ำแข็งเริ่มจากผิวด้านบน (ซึ่งโดนเม็ดน้ำแข็งตกกระทบ) ไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงด้านล่างอีกเช่นกัน

โดยสรุปจะเห็นว่า น้ำเย็นยิ่งยวดจะยังคงสภาพเป็นของเหลวไหลไปมาได้ ตราบเท่าที่ไม่เกิดการกระเพื่อมแรงๆ แต่หากเกิดการกระทบกระเทือน น้ำในบริเวณที่กระเพื่อมจะเปลี่ยนจากน้ำ(เหลวๆ) ไปเป็นน้ำแข็ง และขยายลุกลามออกไป

แล้ว เบียร์วุ้น ทำยังไง?

วิธีหนึ่งคือแช่เบียร์จนเย็นจัดแต่ต้องระวังไม่ให้เบียร์กลายเป็นน้ำแข็งจากนั้นก็เคาะปากขวดเบาๆซึ่งจะทำให้เบียร์ในบางบริเวณกลายเป็นผลึกน้ำแข็งแล้วขยายลามออกไป

พูดแบบวิทยาศาสตร์ เบียร์วุ้นก็คือเบียร์เย็นยิ่งยวดนั่นเอง!

ย้อนกลับมาที่ฟอลล์สตรีคโฮลกันอีกครั้ง เริ่มต้นจากเมฆที่ประกอบด้วยหยดน้ำเย็นยิ่งยวดจำนวนมหาศาล และเมฆก็แผ่ครอบคลุมพื้นที่ค่อนข้างกว้างบนฟ้า เมฆซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ที่น่ารู้จัก ได้แก่ แอลโตคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส (Altocumulus stratiformis) และ ซีร์โรคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส (Cirrocumulus stratiformis) แต่นานๆ ครั้งก็อาจเกิดกับ สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) ได้ด้วย

ทีนี้หากมีบางบริเวณของเมฆถูกกระทบกระเทือน (เช่น มีเครื่องบินบินทะลุผ่านเมฆ) ก็จะทำให้หยดน้ำเย็นยิ่งยวดตรงบริเวณดังกล่าวกลายเป็นน้ำแข็งโดยน้ำแข็งจะเกิดลุกลามออกไปโดยรอบอย่างต่อเนื่อง

ช่องเปิดที่เกิดขึ้นอาจมีรูปร่างค่อนข้างกลม หรือเป็นแนวยาวก็ได้ เรียกง่ายๆ ว่า ช่องเปิด (hole)

ส่วนน้ำแข็งที่เกิดขึ้นมักจะตกลงมาเป็นสาย แต่เมื่อน้ำแข็งพบอากาศด้านล่างซึ่งอุ่นกว่า ก็จะละลายกลายเป็นน้ำแล้วระเหยหมดไป เรียกว่า ฟอลล์สตรีค (fallstreak) แปลว่า แถบเส้นที่ตกลงมา เพราะคำว่า fall แปลว่า ตกลงมา + streak แปลว่า แถบสายซึ่งมีสีสันแตกต่างจากบริเวณใกล้เคียง

ดังนั้นปรากฏการณ์นี้จึงได้ชื่อว่า ฟอลล์สตรีคโฮล (fallstreak hole) ด้วยเหตุนี้

เส้นฟอลล์สตรีคที่ตกลงมา หากถูกลมใต้ฐานเมฆพัด ก็จะเอียงปัดไปตามทิศทางลม ลองย้อนกลับไปดูภาพของคุณเจนและคุณอาร์ตอีกครั้งสิครับ

ฟอลล์สตรีคโฮล ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายอย่าง เพราะหลังจากน้ำแข็งตกลงมาแล้ว ก็มักเหลือช่องว่างขนาดใหญ่ในเมฆ ปรากฏการณ์นี้จึงอาจเรียกว่า cloud hole (ช่องเปิดในเมฆ) skypunch (ฟ้าเจาะรู) punch hole cloud หรือ hole punch cloud (เมฆเจาะรู) หรือ canal cloud (เมฆคลอง) ได้ด้วยเช่นกัน ดูภาพที่ 3 สิครับ

ฟ้าเจาะรู

ฟอลล์สตรีคโฮลขนาดใหญ่
12 ธันวาคม 2559 เวลาประมาณ 11:30 น.
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ภาพ: วรภพ กาญจนพายัพ

ส่วน International Cloud Atlas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า cavum (เควุม) เป็นภาษาละติน แปลว่า ช่องว่าง จัดเป็นลักษณะเสริมรูปแบบหนึ่งของเมฆ

สุดท้าย ทีวีของไทยบางช่อง เช่น รายการข่าวข้นรับอรุณ Nation TV เคยนำเสนอฟอลล์สตรีคโฮลด้วยเช่นกัน ลองตามไปชมกันได้ที่นี่ครับ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

แนะนำแหล่งข้อมูล
หากสนในน้ำแข็งในธรรมชาติอีกกว่า 20 แบบ ขอแนะนำหนังสือ Cloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ ติดต่อ สนพ.สารคดี


โทร: 02-547-2700 ต่อ 111, 116
อีเมล: [email protected]
line id : 0815835040

…………………..

อ่าน Weather Wisdom ตอนก่อนหน้านี้ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน