ผศ.ดร.ฐิยาพร กันตาธนวัฒน์ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยถึงงานวิจัย “การรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่นในบริบทสังคมไทย” โดย สะท้อนให้เห็นภาพกว้างของปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับความรู้เรื่องเพศของวัยรุ่นในสังคมไทย ซึ่งการศึกษาเชิงลึกจากกลุ่มผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และกลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย อายุระหว่าง 18-21 ปี พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า การรู้เท่าทันเรื่องเพศนั้นอยู่บนพื้นฐานการรู้จักตนเองและผู้อื่น ควบคู่ไปกับการเรียนรู้และปฏิบัติอย่างถูกต้อง ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย

 

ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างชี้ว่า ความรู้เรื่องเพศเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยป้องกันปัญหาได้ แต่ในบริบทของสังคมไทยการนำความรู้ ที่ถ่ายทอดในตำราและห้องเรียนออกมาให้ผู้รับเข้าใจและเกิดกระบวนการวิเคราะห์ จนนำไปประยุกต์ใช้ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่พอสมควร ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงพยายาม ผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา เช่น โครงการคุณแม่วัยใส โครงการ Stop teen mom และโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นต้น แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศไม่ลดน้อยลง

 

“เหตุที่ปัญหาต่างๆ ไม่ลดลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงการและกิจกรรมรณรงค์ เกิดขึ้นจากการริเริ่มของหน่วยงานเป็นหลัก แต่ไม่ได้มาถามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือตัววัยรุ่นและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมากนัก ที่สำคัญสังคมไทยมักประสบปัญหาที่ว่าแม้เรื่องเพศ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่กลับเป็นเรื่องที่สถานศึกษาให้เวลาจัดการเรียนรู้น้อยมาก ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็เน้นด้านชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และความแตกต่างระหว่างชายหญิง มากกว่าการให้ความรู้ในทางปฏิบัติ เช่น วิธีการใช้ถุงยางอนามัย วิธีคุมกำเนิด แทบจะไม่มีการสอนการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ และทักษะการต่อรอง” ผศ.ดร.ฐิยาพร กล่าว

 

อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สจล. กล่าวเสริมว่า นอกจากข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกิจกรรมและโครงการ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการ ของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแล้ว ขณะเดียวกันผลจากการวิจัยยังสามารถสรุปคุณลักษณะ 4 ด้าน ที่ควรปลูกฝังให้เยาวชนไทยรู้เท่าทันเรื่องเพศ ซึ่งทุกด้านล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้วัยรุ่นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

 

1. ด้านความรู้ ความเข้าใจ และความคิด เพื่อให้เยาวชนมองภาพกว้างและเข้าใจธรรมชาติทางเพศได้หลากหลายมิติ เพราะปัจจุบันเนื้อหาความรู้ในบทเรียน ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่วัยรุ่นยุคใหม่ต้องการรู้ได้ทั้งหมด ในทางปฏิบัติการผสมผสานความรู้เชิงวิชาการ และประสบการณ์จริง จึงเป็นหนึ่งในวิธีการสอน ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ดีกว่าการปกปิดหรือบอกข้อมูลเพียงบ้างส่วน

 

2. ด้านการประยุกต์ใช้ความรู้ หากเยาวชนมีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อถึงสถานการณ์จริงกลับทำไม่เป็นหรือไม่ถูกต้อง เช่น การใส่ถุงยางอนามัย หรือการไม่รู้ว่าสิ่งผิดปกติที่เปิดขึ้นกับอวัยวะเพศของตัวเอง คือสัญญาณบ่งชี้ของโรคอะไร ท้ายที่สุดจะทำให้สังคมไทย ก็จะยังคงต้องตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างที่ผ่านมา

 

3. ด้านความสามารถในการเผชิญปัญหา เพื่อให้สามารถใช้วิจารณญาณและเหตุผล ในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เช่น การมีสติยับยั้งชั่งใจ หรือการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และตระหนักได้ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา หากไม่ป้องกันก่อนการมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการหาทางออกที่ดีที่สุด เมื่อเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

 

4. ด้านความสามารถในการปรับตัวฟื้นคืนการดำเนินชีวิตภายใต้แรงกดดัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเมื่อวัยรุ่นพลาดพลั้ง มีเซ็กส์โดยไม่ป้องกัน ส่วนใหญ่มักนำมาซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือแม้กระทั่งติดโรคทางเพศสัมพันธ์ โดยผลสำรวจในปี 2556 พบเยาวชนอายุ 15 – 19 ปี ร้อยละ 32 ต้องออกจากการศึกษาเพราะตั้งครรภ์ จึงหันไปประกอบอาชีพที่มีรายได้ต่ำ ที่สำคัญพบว่าในกลุ่มนี้มีการทำแท้งถึง ร้อยละ 28 และ ร้อยละ 6.9 ทำแท้งซ้ำ ขณะที่ข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ในปี 2558 มีหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูก 104,300 คน หรือคลอดเฉลี่ย วันละ 286 คน อายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 3,000 คน ดังนั้น การเพิ่มทักษะด้านนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ที่ก้าวพลาดยังคงสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป

 

“ทุกวันนี้วัยรุ่นต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม ที่มีอิทธิพลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ง่าย ครอบครัวและสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปลูกฝัง ความรู้และทักษะชีวิตให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้เยาวชนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน แต่ยังคงสามารถค้นหาวิธีการแก้ปัญหา ที่เป็นผลดีมากที่สุดต่อทั้งตัวเองและคนรอบข้าง” ผศ.ดร.ฐิยาพร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน