เมื่อวันที่ 23 ก.พ.นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) กล่าวถึงการแถลงข่าวขององค์การนาซา กรณีค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยจักรวาลพร้อมกันถึง 7 ดวง ว่าน่าตื่นเต้นมาก เพราะดาวกลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายโลกมาก ทำให้เป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

AFP PHOTO / ESO/NASA/

กล่าวคือดาวเป็นหินแข็ง รวมทั้งมีน้ำอยู่เป็นของเหลวได้ และเป็นน้ำที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ขณะที่การค้นพบที่ผ่านมาแม้จะมีการค้นพบดาวเคราะห์ลักษณะคล้ายโลกเราถึง 3,000 กว่าดวง แต่ส่วนมากจัดเป็นพวกดาวยักษ์แก๊ส ไม่ใช่ดาวเคราะห์หินแข็งคล้ายโลก ที่มีเพียง 3 ร้อยกว่าดวง

 

อย่างไรก็ตาม นายศรัณย์กล่าวว่า การจะเดินทางไปพิสูจน์ยังดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง คงลำบากเพราะอยู่ห่างจากโลกถึง 40 ปีแสง หรือ 235 ล้านล้านไมล์ หรือ 376 ล้านล้านกิโลเมตร

ขณะที่ 1 ปีแสงเท่ากับระยะทางที่แสงจะเดินทางในเวลา 1 ปีประมาณ 3 แสนเมตรต่อวินาที ลองคูณเอาว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางกี่ปี

เทียบขนาดดาว 7 ดวงของระบบแทร็ปพิสต์-1 ด้านบน กับดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคารด้านล่าง/ AFP PHOTO / European Southern Observatory /

เมื่อเทียบกับระยะทางจากดวงอาทิตย์กับโลก แสงใช้เวลาเดินทาง 8.3 นาที และระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปดาวพลูโต แสงใช้เวลาเดินทาง 5.5 ชั่วโมงเท่านั้น

ดังนั้น การเดินทางไปดาวอังคารที่อยู่ในระบบสุริยจักรวาลยังถือว่าง่ายกว่า เพราะขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าว่าภายใน 15 ปีจะต้องเดินทางไปดาวอังคารเพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน