เอพีรายงานวันที่ 24 ก.พ. ว่า ยานจูโน ยานสำรวจดาวพฤหัสบดีขององค์การนาซา เผชิญอุปสรรคในการโคจรรอบดาวพฤหัสฯ หรือจูปิเตอร์ ต้องโคจรที่คาบ 53.4 วันต่อวงรอบ เป็นเวลานาน 4 เท่าจากที่ตั้งใจจะให้โคจรได้ 14 วันต่อรอบ เนื่องจากวาล์วตรวจสอบฮีเลียมติดขัด ใช้เวลาในการเปิดนานหลายนาทีแทนที่จะเป็นเพียงไม่กี่วินาที

ยานจูโนเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ตามแผนที่วางไว้ ระหว่างการเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีรอบที่สอง วันที่ 19 ต.ค.2559 ยานจะจุดจรวดหลักเพื่อปรับวงโคจรให้แคบลงเพื่อเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากขึ้นและมีคาบสั้นลงเหลือรอบละ 14 วัน แต่เกิดปัญหาขึ้นทำให้การปรับวงโคจรล้มเหลว

ภาพจากยานจูโน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. จังหวะที่โคจรอยู่เหนือขั้วใต้ของดาวในระดับความสูง 101,000 กิโลเมตร แสดงให้เห็นแมฆและพายุหลายลูก / AFP PHOTO

กระทั่งล่าสุดนี้ เมื่อเกิดปัญหาให้ต้องเลื่อนการจุดจรวดอีก นาซาจึงตัดสินใจยกเลิกแผนการดังกล่าว เพราะเห็นว่าปัญหาที่เกิดกับวาล์วเสี่ยงเกินไป ดังนั้นต่อไปนี้จะต้องโคจรอยู่ในระยะห่างจากดาวพฤหัส 4,200 ก.ม.

จากนี้ไปนาซ่าแจ้งว่า คุณภาพของการสำรวจจะไม่ได้รับผลกระทบ ยานยังคงบันทึกภาพส่งกลับมายังโลกได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลานานกว่าเดิม และหากว่าจะทำภารกิจให้ได้หมด งบประมาณอาจต้องลากยาวกว่าแผนเดิมที่ใช้ไปแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 35,000 ล้านบาท

“การตัดสินใจก้าวข้ามไปนี้เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เป็นการรักษาความคุ้มค่าไว้เพื่อให้จูโน่เดินภารกิจอันน่าตื่นเต้นต่อไป” โธมัส ซูร์บูเชน ผู้บริหารร่วมของภารกิจกล่าว และย้ำว่า จนถึงขณะนี้จูโน่ทำผลงานที่ไม่มีอะไรน้อยไปกว่าความมหัศจรรย์

จูโน่เป็นยานลำที่สองจากยานกาลิเลโอที่เดินทางไปโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ดาวซึ่งมีดวงจันทร์บริวารถึง 67 ดวง จูโน่เก็บข้อมูลได้มากมาย ทั้งด้านบรรยากาศ โครงสร้างภายใน และสนามแม่เหล็ก หากไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นอีก ยานจูโนจะปฏิบัติภารกิจไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 หลังจากเดินทางออกจากแหลมคานาเวอรัลเมื่อปี 2554

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน