การติดตั้งระบบจรวดสอยจรวดรุ่นใหม่ในชื่อ “ระบบต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปในชั้นบรรยากาศปลายทาง” หรือ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense) ของสหรัฐอเมริกาในเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากจีนอย่างที่สุด

แม้สหรัฐและเกาหลีใต้จะอ้างเหตุผลว่าเพื่อรับมือกับเกาหลีเหนือ แต่การมาติดตั้งในเกาหลีใต้ที่เหมือนอยู่หลังบ้านจีนนั้น บั่นทอนแสนยานุภาพของจีนอย่างชัดเจน

ทำไม ธาด THAAD ทำให้จีนต้องกระวนกระวายใจเช่นนี้

นายแดน ซูเตอร์ ผู้อำนวยการแผนกธุรกิจเชิงพาณิชย์ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ผู้พัฒนา THAAD กล่าวว่า ระบบ THAAD ถือเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในโครงการระบบป้องกันไอซีบีเอ็มของสหรัฐ หรือ BMDS (U.S. Ballistic Missile Defense System)

เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2530 (ค.ศ.1987) และนำมาใช้ครั้งแรกในสงครามอ่าว ระหว่างยุทธการ Desert Shield และ Desert Storm ในปี 2534 (ค.ศ.1991) เพื่อไว้ใช้ยิงสกัดขีปนาวุธสกั๊ดของกองทัพอิรัก

จากนั้นพัฒนาต่อให้มีขีดความสามารถทำลายไอซีบีเอ็มพิสัยใกล้ไปจนถึงปานกลางได้

จุดเด่นของ THAAD อยู่ที่การไม่มีหัวรบ หลักการของขีปนาวุธชนิดนี้จะใช้พลังงานจลน์ (Kinetic energy) กล่าวคือ ใช้วิธีการพุ่งชนเป้าหมาย ทำลายไอซีบีเอ็มที่ติดหัวรบได้ทุกชนิดอย่างปลอดภัย

ไม่ว่าจะเป็นหัวรบเคมี หัวรบชีวภาพ หรือหัวรบนิวเคลียร์ เพราะหัวรบเหล่านี้จะไม่ถูกจุดชนวนให้ระเบิดกลางอากาศ

จุดเด่นอีกอย่างของ THAAD คือ ขีดความสามารถในการทำลายไอซีบีเอ็มทั้งแบบในชั้นบรรยากาศ (Endoatmospheric) และนอกชั้นบรรยากาศโลก (Exoatmospheric)

ไม่เหมือนกับระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นก่อนหน้านี้ เช่น MIM-104F (PAC-3) หรือที่นิยมเรียกกันว่าระบบแพตทริออต (Patriot) ติดตั้งในเกาหลีใต้ ซึ่งมีพิสัยการยิงที่สั้นกว่าและเป็นระบบต่อต้านแบบในชั้นบรรยากาศเท่านั้น รวมถึงระบบขีปนาวุธจากเรือสู่อากาศของ Raytheon RIM-161 Standard Missile 3 (SM-3) ที่ใช้ร่วมกับระบบต่อสู้เอจิส Aegis Combat System (ACS) ในกองเรือยุทธการที่ 7 ของสหรัฐในทะเลญี่ปุ่น เป็นระบบต่อต้านแบบนอกชั้นบรรยากาศเพียงอย่างเดียว

เมื่อเทียบกับทั้งสองระบบแล้ว THAAD เป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธที่ยืดหยุ่นและเข้าแทรกอยู่อีกชั้นหนึ่งตรงกลางระหว่างระบบทั้งสอง

THAAD ยังออกแบบมาเพื่อต่อต้านการโจมตีแบบ MIRV (Multiple Independently targetable Reentry Vehicle) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อเอาชนะระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นเก่า

ขีปนาวุธแบบ MIRV จะติดตั้งหัวรบไว้หลายหัวรบโปรยลงมายังพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งแท่นยิง THAAD 1 แท่น จะมีขีปนาวุธถึง 72 ลูก จึงสามารถต่อต้านเทคนิคชนิดนี้ได้

หลังไอซีบีเอ็มพุ่งขึ้นจากฐานออกไปนอกชั้นบรรยากาศโลก และเริ่มกลับมาในชั้นบรรยากาศโลกเพื่อพุ่งเข้าหาเป้าหมายปลายทาง (เรียกว่าระดับเทอร์มินอล) THAAD จะเข้าทำลายที่ระดับนี้

A Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) interceptor / Reuters/File Photo

นอกจากนี้ THAAD ยังทำงานประสานกับระบบต่อต้านขีปนาวุธอื่น อาทิ แพตทริออต หรืออีจิส ส่งรับข้อมูลจากเรดาร์ และข้อมูลจากศูนย์บัญชาการประสานงานยุทธการ (C2BMC)

แท่นยิง THAAD จะติดตั้งไว้บนรถ เคลื่อนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ หรือภาวะตึงเครียดที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ทั้งเป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธที่โดดเด่น มีระดับหวังผล 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม จากการยิงทดสอบ 11 ลูก สามารถทำลายเป้าหมายได้ทั้งหมด

 

ปัจจุบัน THAAD เข้าประจำการแล้วบนเกาะฮาวาย เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากไอซีบีเอ็มของเกาหลีเหนือ ทั้งยังได้รับการติดตั้งไว้บนเกาะกวมที่มีฐานทัพสหรัฐ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เกาหลีเหนือเคยขู่ไว้

รวมไปถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี โอมาน และล่าสุด ประเทศเกาหลีใต้ โดยกองบัญชาการป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธและยุทธการรบในอวกาศของสหรัฐ (ASMDC)

นอกจากนี้ยังพิจารณาจะติดตั้งที่กองบัญชาการสหรัฐภาคพื้นยุโรป (EUCOM) ในทวีปยุโรป และกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (CENTCOM) กำลังพิจารณาติดตั้ง THAAD ในตะวันออกกลางด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน