เลอโนโว ThinkBook โน้ตบุ๊กสวยดึงดูด-คุ้มราคา

จันท์เกษม รุณภัย

เลอโนโว ThinkBook – เลอโนโว ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ จากประเทศจีนที่ได้รับความนิยมกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเอเชียแปซิฟิก ที่ปีนี้การแข่งขันในตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กทวีความเข้มข้น

การทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของค่ายนี้ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นอัลตร้าบุ๊ก ชื่อว่า เลอโนโว ธิงก์บุ๊ก (Lenovo ThinkBook)

อัลตร้าบุ๊กรุ่นนี้จากเลอโนโวจัดเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมุ่งเน้นการทำงานทั่วไปและรองรับความบันเทิงขั้นพื้นฐานได้อย่างดูหนังฟังเพลง เล่นอินเตอร์เน็ต และเกมที่ไม่ได้กินกราฟิกหนักๆ

เลอโนโว ThinkBook

หากใครที่ไม่คุ้นชื่อ ThinkBook ก็ไม่แปลกเพราะเลอโนโวเพิ่งประกาศเปิดตัวไลน์อัพรุ่นนี้ไปเมื่อต้นปี 2562 คอนเซ็ปต์การออกแบบนั้นเป็นการหาจุดสมดุลระหว่างอัลตร้าบุ๊กระดับพรีเมียมของค่ายอย่าง เลอโนโว ธิงก์แพ็ด (Lenovo ThinkPad) และเลอโนโว ไอเดียแพ็ด (Lenovo IdeaPad) ที่เป็นโน้ตบุ๊กทำงานขั้นพื้นฐานจนกลายเป็น ThinkBook ขึ้นมานั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่รูปโฉมภายนอกจะแลดูคล้าย ThinkPad แต่ด้านการใช้งานแล้วค่อนข้างคล้ายกับทาง Ideapad มากกว่า ทั้งหมดนี้ เพิ่มตัวเลือกผลิตภัณฑ์ด้านคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กใน เซ็กเมนต์การทำงานและความบันเทิงทั่วไป

การทดสอบ

ความประทับใจแรกในการทดสอบ ThinkBook 13s คืองานออกแบบภายนอกที่เรียบหรูสวยงามเทียบได้กับโน้ตบุ๊กในราคาระดับพรีเมียม อย่างเครื่องที่ทดสอบนี้เป็นสีเทา มิเนอรัล เกรย์ ประกอบขึ้นจากวัสดุอะลูมิเนียมชั้นดีทั้งเครื่อง พื้นผิวทั้งหมดถูกขัดด้านเผยลวดลายโลหะระยิบระยับ แลดูหรูหราและคมเข้มทั้งส่วนฝาบน ด้านข้างและใต้เครื่อง

เลอโนโว ThinkBook

กางได้ 180 องศา

ส่วนด้านหลังเป็นแกนหมุนทรงกระบอกยาวสีเงินออกมันวาว ช่วยตัดอารมณ์เหลี่ยมมุมเจียระไนของเครื่องได้อย่างกลมกล่อม ขณะที่ช่องระบายความร้อนอยู่ด้านหลังเครื่องและใต้เครื่อง การทดสอบเบื้องต้นไม่พบปัญหาเรื่องความร้อนและเสียงรบกวนจากพัดลมในเครื่อง

ด้านการเชื่อมต่อ ThinkBook 13s มาพร้อมกับ USB 3.1 Gen 1 2 ตำแหน่ง อยู่ที่ขอบด้านขวา ขณะที่ Headphone/mic combo, HDMI 1.4b, USB-C Gen 2 และชาร์จเจอร์ ซึ่งหัวเสียบกับเครื่องเป็นแบบแบนบาง (Slim tip) ภายในเป็นแบตเตอรี่ขนาด 45 วัตต์ชั่วโมง (Wh) รองรับคลื่น Wi-Fi 802.11ac ที่สัญญาณ 2.4 กิกะเฮิร์ซ (GHz) แต่ไม่ใช่ Dual-band จึงไม่รองรับสัญญาณ 5 GHz

จุดนี้ พอร์ตที่ให้มาต่างๆ นั้นเพียง พอต่อการใช้งานพื้นฐานทั่วไปแล้ว แต่ผู้ใช้ที่ชื่นชอบการใช้เมาส์ไร้สาย พร้อมกับ External Storage ตลอดเวลา อาจพบปัญหาพอร์ตไม่เพียงพอต่อ การใช้งานได้ ทางเลอโนโวอาจลองพิจารณาเพิ่ม USB 3.1 Gen 2 อีกสัก 1 พอร์ต เพราะผู้ใช้งานประเภทนี้พบบ่อยอย่างไม่น่าเชื่อ

ธิงก์บุ๊ก 13 เอส มีขนาดกว้าง 216.4 ยาว 307.6 และสูง 15.9 มิลลิเมตร มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.4 กิโลกรัม ถือว่ามีขนาดกำลังดีเหมาะต่อการพกพาไปไหนมาไหนได้ ขณะที่น้ำหนักนั้นถือว่าไม่หนักแต่ก็ไม่ได้เบาพิเศษ

เลอโนโว ThinkBook

พอร์ตชวา

เลอโนโว ThinkBook

พอร์ตซ้าย

เมื่อยกฝาขึ้นมา พบการออกแบบภายในที่ดูเรียบง่าย ผสมผสานกับอะลูมิเนียมสีมิเนอรัล เกรย์ เนื้อเนียน พร้อมขอบเจียระไนรอบทัชแพด ที่สร้างเสน่ห์ดึงดูดอย่างไม่น่าเชื่อ บางคนอาจมองว่าดูเรียบจนน่าเบื่อ แต่ถ้าเป็นคนชื่นชอบดีไซน์เรียบง่าย และไม่ชอบปุ่มและตัวหนังสือมากมายดูรกหูรกตา น่าจะประทับใจ

เลอโนโวนำปุ่มเปิดปิดเครื่องไปไว้ที่มุมขวาบนของเครื่องเป็นรูปวงกลมล้อมกรอบด้วยแสงไฟสีขาว สีเดียวกับแบ๊กไลต์ ฉายผ่านปุ่มสีเทาเข้มขึ้นมา

เครื่องที่ได้มาทดสอบนี้ไม่มีเซ็นเซอร์ลายนิ้วมือมาด้วย แต่ผู้ซื้อเลือกเป็นตัวเลือกเสริมได้อยู่แล้ว โดยเซ็นเซอร์ดังกล่าวบิลด์อินไว้ในปุ่มเปิดปิด ส่วนระบบความปลอดภัยที่มาให้นั้นเป็นกล้องหน้าความละเอียด 720p ใช้สแกนใบหน้าได้ผ่านระบบ Windows Hello

ขณะที่แสงไฟรอบปุ่มเปิดปิดนั้นจะสว่างติดตลอดเวลาเพื่อบอกว่าเครื่องเปิดอยู่ และจะดับลงเมื่อเครื่องชัตดาวน์แล้วเท่านั้น ไม่เหมือนกับแสงไฟแบ๊กไลต์ที่สามารถปรับได้ 3 ระดับ ได้แก่ ปิด สว่างน้อย และสว่างมาก

หน้าจอของ ThinkBook 13s มีขนาด 13 นิ้ว และให้สีสันที่ค่อนข้างฉูดฉาดน่าประทับใจ จุดนี้เป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาของผู้ทดสอบอีกจุดหนึ่ง เพราะผิดคาดไม่คิดว่าจอของ ThinkBook 13s จะให้สีสันได้ดีขนาดนี้ โดยผลการทดสอบ sRGB ร้อยละ 99 และ AdobeRGB ได้ร้อยละ 78

ความสว่างสูงสุดอยู่ที่ 300 นิต สามารถมองเห็นได้ดีเยี่ยมในอาคาร สมกับที่ติดตั้งเทคโนโลยี Dolby Vision แต่การใช้งานนอกอาคารอาจจะไม่เพียงพอโดยเฉพาะหากมีแดดจัด ขณะที่ขอบจอนั้นเป็นสีดำสนิทผิวด้านช่วยดันจอภาพให้โดดเด่น ขอบข้างความบางเพียง 5.5 .. แต่เสียอย่างเดียวที่เป็นวัสดุพลาสติก

เลอโนโวเรียกการออกแบบจอภาพนี้ว่า จออินฟินิตี้ (Infinity screen) เป็นจอภาพ IPS LCD เรโซลูชั่นสูงสุดแบบ FHD (1,920×1,080 พิกเซล) จอภาพของ ThinkBook 13s ไม่ค่อยสะท้อน ทำให้ใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนานไม่รำคาญตา จึงถือเป็นอีกจุดที่น่าประทับใจที่สุดต่อจากงานออกแบบตัวเครื่อง

สําหรับการทดสอบการใช้งาน ทัชแพด พบว่ามีความไวและแม่นยำสูง ไม่มีอาการฝืด หรือไวเกินจนทำให้เกิดความรำคาญแม้แต่น้อย อีกทั้งตำแหน่งของทัชแพดนั้นอยู่ประมาณกึ่งกลางที่พักมือ และมีขนาดกำลังดี

การกดทัชแพดด้านล่างเพื่อจำลองการคลิกซ้ายและขวามีการตอบสนองที่ดีเยี่ยมและไม่กระทบไปยังส่วนอื่นของทัชแพด เหมือนกับโน้ตบุ๊กบางค่ายที่หากกดด้านล่าง ทัชแพดส่วนอื่นก็อาจยุบไปด้วย ส่วนขอบของทัชแพด นั้นทางเลอโนโวเจียระไนมาวาววับจับตา น่าประทับใจเช่นกัน เพราะทำให้ด้านในของ ThinkBook 13s ดูไม่น่าเบื่อ

ด้านแป้นพิมพ์นั้นจัดอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากเทียบกับแป้นพิมพ์ของ ThinkPad ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์หลายคนว่าใช้พิมพ์งานได้ดีเยี่ยม แล้วจะพบว่า ด้อยกว่าเล็กน้อยในเรื่องของความสบายในการพิมพ์ เนื่องมาจากความลึกของปุ่มที่ผู้ทดสอบมองว่าค่อนข้างตื้นไปเล็กน้อย

นอกนั้นทั้งระยะห่างของปุ่ม ขนาดปุ่ม และความนุ่มนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว รวมไปถึงที่พักมือนั้นมีความกว้างกำลังดี และแผ่นอะลูมิเนียมมีความคงทนแข็งแรงไม่ยุบหรือบุบลงไปตามแรงกดข้อมือ เป็นอีกจุดที่น่าชื่นชม

เลอโนโว ThinkBook

ลำโพง

เลอโนโว ThinkBook

ลำโพงฮาร์แมน

ส่วนลำโพงสเตอริโอขนาด 2W ของ ThinkBook 13s เป็นลำโพงที่ให้เสียงเหมือนกับโน้ตบุ๊กขนาด 13 นิ้วทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษให้สะดุดหู แม้จะได้รับการปรับแต่งเสียงจากค่าย HARMAN สหรัฐอเมริกา (ในเครือซัมซุง ประเทศเกาหลีใต้)

แต่เสียงที่ออกมานั้นมีความดังอยู่ในระดับปานกลาง เสียงต่ำมีพอให้หายคิดถึง เสียงกลางเด่นแต่ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เสียงสูงแหลมคม แต่เวทีเสียงแคบ และมิติเสียงอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ส่งผลให้เสียงที่ออกมาไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

ระยะเวลาใช้งานของแบตฯ

ระยะเวลาใช้งานของแบตฯ ผู้ทดสอบใช้งานทั่วไป เช่น พิมพ์งาน เล่นอินเตอร์เน็ต และฟังเพลง ที่ความสว่างจอภาพปานกลาง และโหมด balance ในวินโดวส์ 10 พบว่าสามารถใช้งานได้ราว 7-8 ชั่วโมง แต่จุดนี้ชดเชยด้วยเทคโนโลยี Rapid Charge ของ เลอโนโว โดยจากการทดลองชาร์จ 1 ชั่วโมง พบว่าแบตฯ ขึ้นไปถึงเกือบร้อยละ 80

ThinkBook 13s ใช้ขุมพลังจากหน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียู Intel Core i7-8565U เป็นซีพียู Core series รุ่นที่ 8 บนสถาปัตยกรรมการออกแบบ Whiskey Lake ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 14 นาโนเมตร (nm) มีคอร์ประมวลผล 4 คอร์ (Quad-core)

ติดตั้งเทคโนโลยี Hyper-Threading (HT) ทำให้ประมวลได้สูงสุด 8 เธรด มีความเร็วสัญญาณนาฬิกาฐาน 1.80 GHz และความเร็วสัญญาณนาฬิกาเทอร์โบสูงสุด 4.60 GHz หน่วยประมวลผลกราฟิก หรือจีพียูแบบออนบอร์ด รุ่น Intel UHD Graphics 620 มี VRAM ขนาด 128 MB

เลอโนโว ThinkBook

ปุ่มเพาเวอร์สวย

เลอโนโว ThinkBook

ทัชแพดขอบเจียระไน

เลอโนโว ThinkBook

แผงระบายความร้อน

โดยผู้ใช้สามารถเลือกเปลี่ยนจีพียูเป็น Discrete AMD Radeon-540X ที่มี VRAM แบบ GDDR5 ขนาด 2 GB ได้ ส่วนหน่วยความจำแรมในเครื่อง DDR4-2666 ขนาด 16 GB และหน่วยเก็บข้อมูลแบบ M.2 PCIe SSD ขนาด 512 GB มาพร้อมระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 10 Pro

ซีพียูของ ThinkBook 13s มีประสิทธิภาพในระดับปานกลาง สามารถรองรับการใช้งานพื้นฐานทั่วไปได้ครอบคลุม แต่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานแบบเฉพาะทาง เช่น การตัดต่อวิดีโอไปจนถึงเล่นเกมที่กินกราฟิกหนักๆ เนื่องมาจากแรมที่เป็นแบบ Single-channel และจีพียูแบบออนบอร์ด

ขณะที่ M.2 PCIe SSD ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมในแง่ความเร็วของ การอ่านเขียนข้อมูล ทว่าทางเลอโนโวน่าจะแถม HDD แบบธรรมดาที่มีความจุอย่างน้อย 1 เทร่าไบต์มาให้ด้วย

โดยรวมแล้ว ThinkBook เป็นอัลตร้าบุ๊กประสิทธิภาพสูงกว่า IdeaPad แม้จะไม่เทียบเท่า ThinkPad ไม่มี Smart Card, SD Card, microSD Card reader ไม่ได้มาตรฐานเกรดกองทัพสหรัฐ MIL-STD 810G แต่ชดเชยด้วยแป้นพิมพ์กันน้ำกระเซ็นใส่ หน้าจอที่สวยงามน่าดึงดูด

งานออกแบบภายนอกที่เรียบหรูคมเข้ม พร้อมประสิทธิภาพการทำงานพื้นฐานรอบด้าน ขนาดที่กะทัดรัด และสนนราคาเริ่มต้นที่ 27,000 บาท ทำให้ ThinkBook 13s เป็นอัลตร้าบุ๊กทำงานที่น่าสนใจมากอีกรุ่นหนึ่ง ผู้ที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊กทำงานหรูๆ เบาๆ พกพาสะดวก ไม่ควรมองข้าม!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน