วันที่ 25 เม.ย. บีบีซีรายงานว่า คณะวิจัยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ของอังกฤษค้นพบว่า ตัวอ่อนของผีเสื้อราตรีกินถุงพลาสติกได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในอนาคต

คณะวิจัยค้นพบว่า ตัวอ่อนของผีเสื้อราตรี ซึ่งที่ปกติจะกินขี้ผึ้งในรังผึ้ง สามารถทำลายความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางเคมีของพลาสติก ซึ่งมีระบบการย่อยคล้ายคลึงการกินขึ้ผึ้ง

แต่ละปีจะมีปริมาณการผลิตพลาสติกพอลิเอทิลีนราว 80 ล้านตันทั่วโลก ส่วนใหญ่จะใช้ทำถุงพลาสติกใส่ของและอาหาร โดยพลาสติกจะใช้ย่อยสลายอย่างหมดสิ้นกว่าร้อยปี แต่ตัวอ่อนของผีเสื้อราตรีสามารถกัดกินถุงพลาสติกจนเป็นรูไม่ถึงชั่วโมง

ดร.เปาโล บอมเบลลี นักเคมีมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และหนึ่งในนักวิจัย ระบุว่า ตัวอ่อนของผีเสื้อราตรีจะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่ง และคณะวิจัยต้องการทำความเข้าใจรายละเอียดและวิธีการกินพลาสติก พร้อมหวังว่า จะค้นหาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกด้วย

ดร.บอมเบลลี่ และดร.เฟเดริก้า แบร์โตชินี จากสภาวิจัยแห่งชาติสเปน ร่วมจดสิทธิบัตรการทดลองนี้ โดยต้องการเร่งดำเนินการวิจัยทางเคมีที่อยู่เบื้องหลังการทำลายพลาสติก และคิดว่าจุลินทรีย์ในตัวอ่อนของผีเสื้อราตรีและแมลงอาจมีส่วนช่วยกำจัดพลาสติก หากค้นพบและระบุขั้นตอนทางเคมีได้ จะนำไปสู่การจัดการพลาสติกในสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“เรากำลังวางแผนหาทางกำจัดพลาสติกเพื่อรักษามหาสมุทร แม่น้ำ และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น” ดร.แบร์โตชินีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน