คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

อยากรู้เรื่องดาวเคราะห์ที่พบใหม่ 7 ดวง ที่ว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ จริงไหมคะ

บูเกต์

ตอบ บูเกต์

คำตอบนำมาจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th/news/1065/ ว่าด้วยการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดระดับโลก 7 ดวงในระบบสุริยะเดียว รายงานโดย วิมุติ วสะหลาย ว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) องค์การนาซ่า (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ) แถลงข่าวใหญ่ ถึงการค้นพบที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์ต่างระบบ

นั่นคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซ่าพบระบบสุริยะใหม่ที่มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกถึง 7 ดวง ในจำนวนนี้มีดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ในเขตเอื้ออาศัยถึงสามดวง นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบในเขตเอื้ออาศัยของระบบสุริยะเดียวกันเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ทั้งนี้ คำว่า เขตเอื้ออาศัย (habitable zone) หมายถึงบริเวณรอบดาวฤกษ์ที่อยู่ในระยะพอเหมาะ ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป หากมีดาวเคราะห์หินโคจรอยู่ในบริเวณนี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะมีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวไหลรินอยู่บนพื้นผิว และน้ำก็เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตเอื้ออาศัยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญหากต้องการมองหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ระบบสุริยะใหม่ที่ค้นพบในครั้งนี้คือ ระบบสุริยะของดาว แทรปพิสต์-1 (TRAPPIST-1) ชื่อดาวตั้งชื่อตามกล้องแทรปพิสต์ (TRAPPIST–The Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ค้นหาดาวหางและดาวเคราะห์ต่างระบบอัตโนมัติของเบลเยียมที่ตั้งอยู่ในหอดูดาวลาซียา ประเทศชิลี

ดาวแทรปพิสต์-1 อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ มีมวลเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1/8 ของดวงอาทิตย์ อุณหภูมิพื้นผิว 2,800 เคลวิน เป็นดาวฤกษ์ชนิดที่เรียกว่า ดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ประเภทที่มีมากที่สุดในเอกภพ ดาวฤกษ์ราว 70 เปอร์เซ็นต์เป็นดาวฤกษ์ชนิดนี้ (ดาวแคระแดง-red dwarf ดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลักที่มีมวลต่ำ มวลสูงสุดไม่เกิน 0.5 มวลสุริยะ มีอุณหภูมิพื้นผิวไม่เกิน 4,000 เคลวิน)

ความน่าสนใจอีกอย่างของ ดาวแทรปพิสต์-1 ก็คือ ระบบสุริยะนี้ห่างจากโลกเราเพียง 39 ปีแสงเท่านั้น ซึ่งถือว่าใกล้มาก

การค้นพบดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดของดาวแทรป พิสต์-1 ไม่ได้เกิดขึ้นในคราวเดียว เรื่องเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เมื่อมีการประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวงรอบดาวดวงนี้ โดยใช้กล้องแทรปพิสต์ หลังจากนั้นจึงมีการสำรวจเพิ่มเติมโดยกล้องอื่น ทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศอย่างกล้องสปิตเซอร์ และกล้องภาคพื้นดินอย่างกล้องวีแอลที

ข้อมูลจากกล้องสปิตเซอร์ยืนยันว่า 2 ดวงในจำนวนนั้นเป็นดาวเคราะห์จริง นอกจากนั้นยังพบเพิ่มอีก 5 ดวง รวมทั้งสิ้นเป็น 7 ดวง

ดาวเคราะห์ของแทรปพิสต์-1 ทั้งเจ็ดดวง ได้รับการตั้งชื่อตามหลักการตั้งชื่อดาวเคราะห์ต่างระบบ (ดาวเคราะห์ต่างระบบ -exoplanet ดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์หรือดาวแคระน้ำตาลดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์) โดยเรียงตามลำดับของวงโคจรจากในสู่นอก ดังนี้คือ แทรปพิสต์-1 บี, แทรปพิสต์-1 ซี, แทรปพิสต์-1 ดี, แทรปพิสต์-1 อี, แทรปพิสต์-1 เอฟ, แทรปพิสต์-1 จี และแทรปพิสต์-1 เอช โดยสามดวงที่อยู่ในเขตเอื้ออาศัยคือ แทรปพิสต์-1 อี, แทรปพิสต์-1 เอฟ และแทรปพิสต์-1 จี

ดาวแทรปพิสต์-1 อี มีขนาดใกล้เคียงโลกมาก ได้รับแสงจากดาวในระดับความเข้มใกล้เคียงกับที่โลกรับจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิก็น่าจะใกล้เคียงโลกด้วย

ส่วนดาวแทรปพิสต์-1 เอฟ มีขนาดใกล้เคียงโลกเช่นกัน โคจรรอบดาวฤกษ์รอบละ 9 วัน ได้รับแสงจากดาวในระดับใกล้เคียงกับที่ดาวอังคารได้รับจากดวงอาทิตย์ ขณะที่ดาวแทรปพิสต์-1 จี มีขนาดใหญ่ที่สุดในดาวเคราะห์ทั้งเจ็ด ใหญ่กว่าโลกประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ ได้รับแสงจากดาวฤกษ์น้อยกว่าที่ดาวอังคารได้รับจากดวงอาทิตย์ แต่มากกว่าที่ดาวเคราะห์น้อยแถบหลักได้รับ

ฉบับพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) พบกับ 7 ดวงดาวผู้มีด้านใดด้านหนึ่งเป็นกลางวันตลอดกาล และด้านตรงข้ามเป็นกลางคืนชั่วนิรันดร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน