จากความฮือฮาสุดๆ เมื่อปี 2558 ที่ทีมงานนักวิจัยค้นพบสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) ตรงตามทฤษฎีคลื่นความโน้มถ่วงของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อดังเคยเขียนไว้เมื่อ 100 ปีก่อนในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

คลื่นดังกล่าวเกิดการจากการรวมตัวกันของหลุมดำส่งผลกระทบต่อการบิดงอของกาลอวกาศ (สเปซ-ไทม์) ถือเป็นการค้นพบที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก

การชนกันของหลุมดำที่ศูนย์ไลโกจับสัญญาณคลื่นได้. Courtesy of SXS Project/California Institute of Technology/Handout via REUTERS

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ต.ค. เอเอฟพีรายงานว่า ผู้นำทีมงานนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ 3 ท่าน ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีค.ศ.2017 หรือประจำปี 2560 ได้แก่ ศ.ไรเนอร์ ไวสส์ ผู้ก่อตั้งทฤษฎีและผู้ให้กำเนิดโครงการไลโก ศ.คิป ธอร์น นักทฤษฎีฟิสิกส์ และศ.แบร์รี่ แบร์ริช ที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับดังกล่าวในสหรัฐ และยุโรป รวมไปถึงออสเตรเลีย ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษากว่า 90 แห่งทั่วโลก

สามนักวิจัยที่พิชิตรางวัลโนเบล / AFP PHOTO /

 

ผลการประกาศรางวัลครั้งนี้ ทำให้ทีมงานของหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงโดยใช้อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ชนิดเลเซอร์ (LIGO) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาค้นพบครั้งนี้ พากันยินดีที่ผลงานดังกล่าวพิชิตรางวัลโนเบล

เรื่องพิเศษสำหรับคนไทยคือทีมงานนี้มีนักวิจัยชาวไทยรวมอยู่ด้วย ได้แก่ น.ส.ณัฐสินี กิจบุญชู หรือ น้องเมียม อายุ 24 ปี นักศึกษาผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของไลโก ประจำสถานีตรวจวัด เขตแฮนฟอร์ด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนาชิ้นส่วนภายในเครื่องอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ รุ่นที่ 3 ซึ่งใช้ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงดังกล่าว

น้องเมียมเคยให้สัมภาษณ์ข่าวสด เมื่อปี 2559

น้องเมียม ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกฟิสิกส์สาขาคลื่นความโน้มถ่วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือเอเอ็นยู ที่กรุงแคนเบอร์รา ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมงานข่าวสดแบบสดๆ ร้อนๆ หลังทราบผลคัดเลือกผู้พิชิตรางวัลโนเบลดังกล่าวว่า ช่วงประกาศรางวัลโนเบล รีบเดินทางกลับมาที่สำนักงานเพื่อรอลุ้นรางวัลโนเบลพร้อมกับเพื่อนๆ เพราะคิดว่าโครงการนี้ของไลโกน่าจะได้แน่ๆ

“ใจหนึ่งก็แอบกลัว เพราะไม่แน่นอน แต่พอประกาศมาว่าได้ก็เฮลั่นเลย” นักศึกษาสาวกล่าว พร้อมเล่าต่อว่า

ตอนฟังประกาศก็คุยกับเพื่อนที่สถาบันเทคโนโลยีเมสซาชูเส็ตส์ในสหรัฐ หรือเอ็มไอที บอกว่า ศาสตราจารย์ไรเนอร์ ไวสส์ ไม่มา ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าทำไมไม่มานั่งช่วยกันลุ้น เพราะไปรอรับโทรศัพท์โนเบลที่บ้าน ตอนนี้เริ่มมีอีเมล์และข้อความแสดงความยินดีเข้ามาจำนวนมาก เช่น อีเมล์จากคณะบดีคณะฟิสิกส์แสดงความยินดีกับทีมไลโกที่เอเอ็นยู แล้วก็อีเมล์จากในเครือข่ายความร่วมมืออีก

 

น้องเมียมเล่าด้วยว่า สมัยที่เข้ามาร่วมกับโครงการไลโกตั้งแต่เรียนปริญญาตรีตอนปี 4 ได้ร่วมงานกับศ.ไวสส์ และทำงานกับไลโกตอนเรียนป.โท ไม่เคยคาดคิดแต่แรกว่าโครงการนี้จะได้รางวัลโนเบล ตอนนั้นตัวเองแทบไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับไลโก พอมาถึงจุดนี้ก็ดีใจ เพราะรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรามากๆ

ศ.ไรเนอร์ ไวสส์. REUTERS/Brian Snyder

“นั่งย้อนคิดกลับไปตอนควบคุมเครื่องว่าหากทำอะไรพลาดไปนิดเดียว ทุกอย่างในวันนี้อาจผิดเพี้ยนไปหมด แถมระหว่างทางก่อนมาถึงวันนี้ก็มีความไม่แน่นอนหลายอย่าง เช่น โดนนักวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์คนอื่นๆ ตั้งข้อสังเกตว่า สัญญาณไม่ใช่ของจริง หรือการวิเคราะห์มีข้อบกพร่อง ซึ่งทางไลโกต้องทำหนังสืออธิบายกลับไป”

นักวิจัยหญิงรุ่นใหม่กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นักวิจัยไลโกจะทำต่อไปคือการหาคลื่นแบบที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งมากับคลื่นความโน้มถ่วง เพราะจะทำให้เกิดวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ๆ ตามมาอีกมาก และยังช่วยยืนยันทฤษฎีต่างๆ ได้อีก อาทิ ทฤษฎีค่าคงที่การขยายตัวของจักรวาล หากได้ข้อมูลสนามแม่เหล็กควบคู่กับคลื่นความโน้มถ่วงก็จะคำนวณเพื่อยืนยันค่าดังกล่าวได้

ล่าสุด ที่ตรวจเจอทำให้กล้องต่างๆ ลดพื้นที่สังเกตการณ์ที่มาของสัญญาณลงได้มาก แล้วทำให้กล้องตรวจจับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าติดตามข้อมูลในพื้นที่ที่แน่นอนได้มากขึ้น แล้วถ้ามันมากับระบบดาวนิวตรอนคู่ คลื่นความโน้มถ่วงมันน่าจะให้ข้อมูลที่เราไม่เคยตรวจจับได้ด้วยกล้องดูดาวมาก่อน เราอาจจะรู้อะไรใหม่ๆ จากดาวประเภทเดิมๆ

“การที่เรามีส่วนร่วมเล็กๆในวันนั้น มันส่งผลที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิดไว้มากๆ” และว่า “ถือเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นสำหรับวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เพราะยังมีอะไรให้ค้นพบอีกเยอะ อยากให้คนไทยได้ตื่นเต้นเหมือนกับคนอื่นเค้าด้วย” น้องเมียม กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน