เมื่อ 17 ต.ค. เอพีรายงานการค้นพบอันน่าฮือฮาอีกครั้งในวงการดาราศาสตร์ เมื่อนักดาราศาสตร์ตรวจจับสัญญาณการพุ่งชนกันของดาวอย่างรุนแรงในอวกาศซึ่งจะไขความลับของจักรวาล รวมถึงที่มาว่าทองคำเกิดขึ้นได้อย่างไร

เดวิด ไรต์เซ ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียและผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์คลื่นแรงโน้มถ่วงอินเตอร์ฟีโรมีเตอร์ เลเซอร์ หรือ ไลโก ร่วมแถลงผลงานการค้นพบนี้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อ 16 ต.ค. ตามเวลาสหรัฐ ว่าคณะตรวจจับและเฝ้าสังเกตการชนกันของดาวนิวตรอน 2 ดวง เมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนพลุดอกไม้ไฟที่น่าตื่นตะลึงที่สุดในจักรวาล

David Reitze (AP Photo/Susan Walsh)

ตอนที่ดาวมาชนกัน ทุกอย่างแตกกระจายหลุดออกมา” ดร.ไรต์เซกล่าว และว่า การวัดแสงและพลังงานที่ปลดปล่อยจากการชนครั้งนี้ จะให้ข้อมูลที่อธิบายได้ว่า รังสีแกมมาที่ระเบิดนั้นทำลายดาวได้อย่างไร และจักรวาลขยายตัวออกได้อย่างไร และธาตุหนักอย่างแพลตตินัม และทองคำเกิดมาจากอะไร

สัญญาณที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับได้ครั้งนี้ มีช่วงความถี่ห่างกัน 1.7 วินาที จับได้โดยหล้องโทรทรรศเฟอร์มีขององค์การนาซา ใช้สำหรับตรวจจับรังสีแกมมา และจากอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงในห้องทดลองของไลโก (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory – LIGO) ที่รัฐหลุยเซียนาและในรัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานพิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้

ก่อนหน้าการตรวจจับครั้งนี้ ทีมไลโกเพิ่งตรวจจับการชนกันของหลุมดำ แต่การชนกันของหลุมดำดังกล่าวไม่มีแสงใดๆ เล็ดลอดออกมา ทำให้นักดาราศาสตร์มองไม่เห็นภาพใดๆ จึงต่างจากการชนกันของดาวนิวตรอนในครั้งนี้

ศ.ดันแคน บราวน์ จากมหาวิทยาลัยไซราคิวส์ ผู้ร่วมงานคนหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์มากกว่า 4,000 คนที่ร่วมโครงการศึกษานี้ กล่าวว่า นี่คือทุกสิ่งทุกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ใฝ่ฝันถึง เป็นการสังเกตการณ์ที่มหัศจรรย์พันลึกของเรา

จุดของกาแล็กซีที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับและสังเกตการณ์จากโลกครั้งนี้ อยู่บริเวณที่เรียกว่า NGC 4993 ในกลุ่มดาวไฮดรา (Hydra constellation) ดาวนิวตรอนสองดวงโคจรเข้าหากันและชนกันอย่างจังที่แกนกลาง เรียกว่า กิโลโนวา ก่อให้เกิดการระเบิดของรังสีแกมมาและคลื่นความโน้มถ่วงส่งแรงกระเพื่อมออกมาจางๆ ในสายใยที่บิดไขว้ไปมาระหว่างกาลและอวกาศ ตามทฤษฎีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน