นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.4% และปี 2562 จะขยายตัว 4.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางทยอยปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย และจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเร่งขึ้นตามทิศทางราคาในตลาดโลก โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เป็นระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้เข้มแข็งต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า กนง. เห็นว่า หากเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในปัจจุบันจะเริ่มลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กนง. มีการหารือในประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการเจาะจงว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด ภายใต้เงื่อนไขอะไร เพราะจะต้องพิจารณาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะปัจจัยสงครามการค้า

“คิดว่าในระยะต่อไปการทำนโยบายการเงินคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ประเทศอื่นกลับสู่ภาวะปกติแล้ว กนง. ต้องประเมินปัจจัยทั้งหมดให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะแม้เสถียรภาพภายต่างประเทศจะดี แต่คณะกรรมการก็ไม่อยากให้ภาคธุรกิจไม่คำนึงถึงอนาคต ที่ภาวะการเงินในตลาดโลกมีความตึงตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดเงิน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนต่างๆ เช่น การออกตราสารหนี้ ก็ตาม”นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง. เห็นว่าความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐและการตอบโต้จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีผลต่อการส่งออกในปี 2561 ที่คาดว่าขยายตัว 9% แต่จะเริ่มมีผลในช่วงปลายปี และจะมีผลมากในช่วงปี 2562 ที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 5% ซึ่งผลจากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลกระทบทั้งทางตรง เช่น สินค้าเหล็ก ส่วนทางอ้อม จะกระทบห่วงโซ่อุปทานและเกิดการแย่งตลาด การทุ่มตลาดกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งประเมินได้ยาก

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า รวมทั้งกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวเต็มที่ การบริโภคภาคภาคเอกชนยังขยายตัวไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับในอดีต จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงาน รวมทั้งผลจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่อาจทำให้หน่วยงานรัฐเบิกจ่ายล่าช้า แต่ก็ยังมีปัจจัยบวก จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด การใช้จ่ายในประเทศขยายตัว การร่วมลงทุนภาครัฐในโครงการ พีพีพี เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน