นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างรวม 12.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.24% จาก 11.56 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 4.6 ล้านล้านบาท พันธบัตรเอกชน 3.36 ล้านล้านบาท พันธบัตรธปท. 3.27 ล้านล้านบาท และ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 8.8 แสนล้านบาท

ขณะที่ประเมินภาวะตลาดตราสารหนี้ระยะยาว ช่วงครึ่งปีหลัง 2561 จะมีการออก 3.27-3.7 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 5.45-6.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ทั้งปีคาดว่ายอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวจะอยู่ที่ 7.6-8 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีการเข้าซื้อกิจการของกลุ่ม เบอร์รี่ยุคเกอร์ อย่างไรก็ดี การออกตราสารหนี้ระยะยาวในปีนี้ยังมีการเติบโตที่ดี เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ (จีดีพี) ที่มีการปรับประมาณการณ์จาก 4.2% เป็น 4.5% และต้นทุนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการควบรวมกิจการ ของบริษัทขนาดใหญ่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เช่น ไทยเบฟเวอเรจ โครงการวัน แบงก์คอก , กลุ่มเทคโนโลยี และ ไมเนอร์ กรุ๊ป มูลค่ารวม 9.7-1.3 แสนล้านบาท ประกอบกับจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 2.24 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่มาชดเชยประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือ 53%

สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้น ภาพรวมในครึ่งปีแรก มูลค่าการออกเพิ่มขึ้นกว่า 30% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และลดลง 9% จากภาคธุรกิจเรียล เซ็กเตอร์ และลดลง 55% จาก กลุ่มธนาคาพาณิชย์และการเงิน โดยภาคเรียล เซ็กเตอร์ ลดการออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ B/E และหันมาออกหุ้นกู้ระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นแทน โดยเฉพาะกลุ่ม Non-rated เป็นกลุ่มที่ออกตั๋ว B/E ลดลงมากที่สุด ส่วนกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี (สูงกว่า BBB-) มีมูลค่าการออกตั๋ว B/E ทรงตัว

ส่วนทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น อายุ 2 ปี จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ จากดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับคงที่ไปจนถึงช่วงปลายปีนี้ แม้ว่าหลายประเทศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว เนื่องจากเงินเฟ้อในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง มีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงและหนี้ต่างประเทศต่ำ จึงไม่มีแรงกดดันมากนักให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี มีทิศทางขาขึ้นในกรอบจำกัด

ขณะที่ประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่าในปี 2562 จะขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น การลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสภาพคล่องในระบบเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี การลงทุนจากต่างประเทศ ในครึ่งปีแรก พบว่าต่างชาติยังคงเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทย โดยมีมูลค่าซื้อสุทธิ 4.36 พันล้านบาท ประกอบด้วยการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 8.43 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 7.99 หมื่นล้านบาท ทำให้ ณ ครึ่งปีแรก ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 8.43 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.17% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่น

ส่วนสถานการณ์เงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยคาดว่าในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ และทำให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุน เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจเรายังมีความแข็งแกร่ง เงินทุนสำรองก็สูง โดยเงินทุนไหลออกส่วนใหญ่จะออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินทุนไหลออกไปแล้ว 8.19 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 10% ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน