นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา มาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการไหลออกของเงินทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กลับไปในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้ค่าเงินโดยรวมของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อ่อนค่าลง จากความกังวลหลายเรื่อง เช่น ปัญหาตุรกี อาเจนตินา และนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งประเทศที่เป้าหมายคือจีน เมื่อค่าเงินหยวนอ่อน ก็ทำให้ประเทศในภูมิภาคค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลต่างประเทศลดลง นักลงทุนกลับมา ทำให้ค่าเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ปรับขึ้น โดยเฉพาะ ประเทศไทย ที่มีความเข้มแข็งต่างประเทศสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเมื่อเทียบหนี้ต่างประเทศ จึงมีเงินไหลเข้ามามากกว่าเมื่อเทียบประเทศอื่น ทั้งพันธบัตรระยะสั้น และบางส่วนเป็นการเก็งกำไร ทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเร็วว่าประเทศในภูมิภาค

“การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะเราใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ใครที่จะใช้ไทยเป็นที่พักเงิน เพราะเห็นว่าเราเป็น Save Heaven และหวังว่าจะเห็นค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงเร็ว เราก็ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งมีมาตรการที่ใช้ตามปกติ” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลให้การทำนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติต้องล่าช้าไปหรือไม่ โดยค่าบาทที่แข็งค่านั้น จะกระทบต่อสภาพคล่องโดยเฉพาะผู้ส่งออก ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะบาทแข็งทำให้ราคาสินค้ามันไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำอยู่แล้ว ส่งผลให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อยิ่งน้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม การทำนโยบายการเงินของไทยขณะนี้ยังมีอิสระ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ไม่มีแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหลังจากนี้ หากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่ใช่การผ่อนคลายแบบมากๆ เหมือนที่ผ่านมา และการขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ใช่การขึ้นแบบแรง ไม่ขึ้นต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจอยู่กับอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน จนเกิดความชะล่าใจ และการขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบกับผู้มีรายได้น้อย

นายวิรไท กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐเตรียมประกาศรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน ว่า ที่ผ่านมา ธปท. ดูแลค่าเงินทั้ง 2 ทาง ไม่มีนโยบายค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางการค้า จะเห็นได้ว่าในปี 2560 หากมีการแทรกแซงค่าเงินจริง ค่าเงินบาทไทยจะไม่แข็งค่าเร็วมากที่สุดในเอเชียตะวันออก ธปท. จะเข้าไปดูแลบางช่วงที่มีไหลเข้า เฉพาะเงินทุนไหลเข้าไม่ใช่เรื่องเงินทุนที่เข้ามาจากการค้า ไม่ให้เข้ามากระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนให้เปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไป

สำหรับแนวโน้มความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศ ธปท. มั่นใจว่าจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากยอดการขอรับส่งเสริมบีโอไอ โดยเฉพาะความสนใจลงทุนในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่ก็มีผลกระทบทั้งดีและเสีย ซึ่งอาจจะมีการชะลอการตัดสินใจการลงทุนออกไป เพราะไม่รู้ว่าประเทศไหน สินค้าใดบ้างจะได้รับผลกระทบ แต่ไทยไม่ใช่ประเทศเป้าหมายหลัก ก็จะมีการกระจายการผลิตมาที่ไทยเพิ่ม เช่น นักธุรกิจจีน แต่โดยรวมถ้าปัญหาลุกลามจนกลายเป็นสงครามการค้า ก็จะกระทบกับบรรยากาศการลงทุนไปทั้งโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน