นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือน ก.ย.นี้ว่าเฟดกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องตัดสินใจว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ และต้องชั่งน้ำหนักข้อมูลหลายๆ ด้านเนื่องจากแม้ข้อมูลเศรษฐกิจบางตัวยังคงมีความอ่อนแอ แต่ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยในปี2559 สหรัฐฯมีการจ้างงานมากขึ้นกว่า 1 ล้านตำแหน่งซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต่างจากปลายปีก่อนที่ตัวเลขของผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯยังเพิ่มขึ้นอยู่

ทั้งนี้การประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯโดยปกติจะมีการส่งสัญญาณก่อนที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากในการประชุม 4 ใน 8 ครั้งจะต้องจัดทำรายงานการคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเงิน และการปรับนโยบายซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อมีการปรับเปลี่ยนทิศดอกเบี้ยว่าจะเป็นการปรับขึ้น จากเดิมที่คงดอกเบี้ยเฟดอาจมีการปรับดอกเบี้ยแบบ 1 ครั้งและเว้น 1 ครั้งโดยรูปแบบที่แน่นอนจะช่วยลดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน แต่สิ่งที่จะต้องจับตาคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งอาจจะเป็นเดือน ก.ย. เดือน ธ.ค.หรือเดือน มี.ค.ในปีหน้าก็ได้

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“การตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้ถือว่ายากลำบาก เพราะเขาจะต้องชั่งน้ำหนักข้อมูลหลายด้าน ต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ กับการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งแม้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวยังไม่แข็งแรงแต่การจ้างงาน ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญอย่างหนึ่งก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำถามคือว่าเมื่อเริ่มดีขึ้น เหมือนคนป่วยจะหายจากโรคแล้วถามว่าจะต้องให้ยาเพิ่มอีกหรือไม่นั่นคือคำถาม”นายกอบศักดิ์กล่าว

นอกจากนั้นหากพิจารณาจากตัวชี้วัดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนโดยดูจากดัชนีวัดค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (U.S.Dollar Index) ในเดือน ก.ย.ค่อยๆปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆโดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 96 ซึ่งถือว่าสูงกว่าการประชุมเฟดในเดือนก่อนๆที่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันก็ใกล้เคียงกับช่วงที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งสะท้อนว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีการแข็งค่าขึ้นมาตอบรับกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

สำหรับการกำหนดนโยบายของประเทศไทยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดำเนินนโยบายการเงินด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามทิศทางของเฟด เนื่องจากสิ่งทีธปท.มีความกังวลก็คือเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงิน และเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วปัจจัยทั้งสามด้านของประเทศไทยยังคงมีความเข้มแข็ง ยังไปได้ดีโดยเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ โดยเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงซึ่งจะสามารถช่วยภาคการส่งออกของประเทศได้มากขึ้นดังนั้นทิศทางการส่งออกมีโอกาสฟื้นตัวได้หลังจากนี้

ขณะที่การที่ ธปท.เข้าไปช่วยพยุงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี ด้วยการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมองว่าธ.ป.ท.อาจไม่ต้องแบกรับภาระขาดทุนเนื่องจากเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลงหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะทำให้ ธ.ป.ท.ได้กำไรอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน