บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (14-17 ก.พ.) เงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ ใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าตามสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนึ่ง สัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากประธานเฟดในช่วงกลางสัปดาห์ ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้ฟื้นตัวขึ้นได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยในวันศุกร์ (17 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 34.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.90-35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการขั้นต้นสำหรับเดือนก.พ. ตลอดจนยอดขายบ้านใหม่ และยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/59 ของไทย และดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการขั้นต้นสำหรับเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงแรก แต่ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์จากแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,577.84 จุด ลดลง 0.47% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลง 2.17% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 53,781.33 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 634.37 จุด ลดลง 0.36% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันอังคารท่ามกลางแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส จากนั้น ตลาดหุ้นไทยทยอยขยับฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มขนส่ง ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติก็กลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,560 และ 1,545 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 4/2559 ของไทย รวมทั้งการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รวมทั้ง การเปิดเผยบันทึกการประชุมเฟด ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของญี่ปุ่น และยูโรโซน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน