ธปท. จ่อคุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ-สินเชื่อรถแลกเงิน-สินเชื่อเช่าซื้อ ชี้แข่งดุเดือด เอ็นพีแอลพุ่งขึ้น ให้วงเงินสินเชื่อเกิน 100% ผ่อนนานมาก 7 ปี สมัครง่าย รู้ผลไว อนุมัติใน 1 ชั่วโมง

ธปท. จ่อคุมสินเชื่อรถแลกเงิน – นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) หลังพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อในประเภทนี้เป็นอย่างมาก โดยสินเชื่อประเภทรถแลกเงินแบบโอนรถ และจำนำทะเบียนรถ ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกในไตรมาส 1/2562 สินเชื่อขยายตัวกว่า 30% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวเพิ่มเป็น 10% ซึ่งการจะออกมาตรการควบคุมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาให้ชัดว่าปัญหาเป็นลักษณะใดบ้าง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ มีแคมเปญที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อแย่งลูกค้ากันอย่างดุเดือด เช่น ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดมากกว่า 100% จากราคาประเมิน ให้ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน หรือ 7 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก ผ่อนชำระสินเชื่อสบายจ่ายต่อเดือนน้อย และสมัครขอสินเชื่อง่าย รู้ผลไว อนุมัติใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น โดยแบ่งเป็นการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ 57% บริษัทลิสซิ่งในเครือธนาคาร 13% และลิซซิ่งอื่นๆ 29% และเป็นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ รถใหม่ 58% รถใช้แล้ว 25% รถแลกเงินแบบโอนเล่ม 13% และจำนำทะเบียนรถ 4%

นายสมชาย กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2562 แม้คุณภาพธนาคารพาณิชย์โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทรงตัวที่ 2.94% จากสินเชื่อธุรกิจที่ลดลงเหลือ 3.01% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงเหลือ 1.54% แต่เอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาที่ 1.71% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.66% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.35% จาก 3.25% สินเชื่อบัตรเครดิต 2.67% จาก 2.34% และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.56% จาก 2.53% รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาเชิงโครงการสร้าง ที่ 4.60% จาก 4.46%

สำหรับเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีทิศทางปรับขึ้นนั้น มั่นใจว่าหลังจากมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 จะทำในระยะยาวคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยดีขึ้น แม้ว่าผลจากมาตรการจะทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอลงไปบ้าง ก็เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3-4/2562 โดยธปท. ยังไม่ผ่อนปรนมาตรการ ทั้งนี้ การที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอลง ก็ไม่ผิดปกติ เพราะมีการเร่งตัวไปมากในช่วงไตรมาส 1/2562 ที่ 1.4 แสนล้านบาท เทียบเฉลี่ย 10 ปีที่ปล่อยสินเชื่อประมาณ 9 หมื่นล้านบาทเฉลี่ยต่อไตรมาส

นายสมชาย กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2562 ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.6% จากไตรมาสก่อนที่ 6% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 3.4% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง 10.1% โดยธนาคารพาณิชย์มีกำไร 5.71 หมื่นล้านบาทขยายตัว 13.7% ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อขยายตัว 5-6% คิดเป็น 2 เท่าของประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งปีที่ 3.6%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน