นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่าเศรษฐกิจไม่น่าจะแย่มากขนาดนี้ ประกอบกับธนาคารกลางทั่วโลกมีความจำเป็นต้องออกมาตรการการเงินเพื่อใช้ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ดังนั้นประเมินจากเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้แล้วว่า ก็มองว่าการลดดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในครั้งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง และมีโอกาสที่ธปท.จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในปลายปีนี้ หากมีสัญญาณที่ค่อนข้างชัดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ถึง 3% จากปัจจุบันยังประเมินกันว่าจะขยายตัวได้ 3.1-3.3% แต่เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงไทย ประเมิน ณ ขณะนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ที่ประมาณ 3% เนื่องคาดหวังว่ารัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งแล้วเสร็จจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4

“เนื่องจากเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในภาวะขาลงอีกครั้ง อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ค่อนข้างแย่ และนโยบายการคลังในหลายประเทศใช้ไม่ได้แล้ว ทำให้โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะปรับลงอีกเป็นไปได้พอสมควร ซึ่งจะเห็นว่ารอบที่แล้วธปท. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดในประวัติการณ์ที่ 1.25% ดังนั้นการที่ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกก็ไม่เกินความคาดหมาย และอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดที่ผ่านมา”นายพชรพจน์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 4.5-5% โดยชะลอตัวลงจากปี 2561 โดยเฉพาะภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้น้อยกว่าปีที่แล้วที่ขยายตัวได้ 8% โดยประเมินจากหลังเกณฑ์ใหม่ควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. หรือช่วง 2 เดือนแรกที่มาตรการ LTV บังคับใช้ ทำให้ตลาดติดลบถึง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบติดลบน้อยกว่าแนวสูงหรือคอนโดมิเนียม เนื่องจากส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่จริง ไม่ได้ปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร และประเมินว่าปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีมูลค่า 5.1 แสนล้านบาท หดตัว 10% โดยที่อยู่อาศัยแนวราบหดตัว 4% ขณะที่คอนโดมิเนียมมีโอกาสติดลบ 27% โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ตลาดบ้านแฝด มาช่วยพยุงตลาด จากการเปรียบเทียบมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแฝดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 30% ส่วนทาวเฮ้าส์ขยายตัว 7% บ้านเดี่ยวและตึกแถวอยู่ในภาวะหดตัว

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังเติบโตได้ 5% โดยที่อยู่อาศัยแนวราบเติบโตได้ 11% ขณะที่คอนโดมิเนียมติดลบ 2% อย่างไรก็ตาม รายงานจากธปท. 6 เดือนแรกในแง่ของการปล่อยสินเชื่อคอนโดมิเนียมสำหรับผู้มีสัญญากู้ที่ 2 พบว่าหดตัว 25% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบสัญญาที่ 2 ยังขยายตัวได้ 3% ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อผู้กู้ใหม่หรือสัญญาแรกขยายตัวทั้ง 2 ตลาด โดยบ้านแนวราบขยายตัวได้ 18% ขณะที่คอนโดฯ ขยายตัว 6% สะท้อนว่ามาตรการ LTV ของธปท. ช่วยสะกัดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์ และทำให้อัตราเร่งของหนี้ครัวเรือนไม่เติบโตเร็วเกินไป อย่างไรก็ดี ถ้าประเมินจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ทำให้คาดว่าธปท. ยังพอใจที่จะยืนระยะการใช้มาตรการ LTV ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน