บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (27-31 มี.ค.) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือนที่ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนึ่ง ในช่วงปลายสัปดาห์ ธปท. ได้ประกาศปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น ระยะ 3-6 เดือน ของธปท. ในเดือนเม.ย. ลง 10,000 ล้านบาท จากสัปดาห์ละ 40,000 บาท เหลือสัปดาห์ละ 30,000 บาท เพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับในวันศุกร์ (31 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.30-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่กระแสฟันด์โฟลว์ หลังจากที่ธปท. ลดวงเงินการออกพันธบัตรธปท. ลง ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.พ. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอประเมินสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพิ่มเติมจาก FOMC Minutes และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นเล็กน้อยจากการทำราคาปิดไตรมาสโดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,575.11 จุด เพิ่มขึ้น 0.10% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 8.74% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 39,314.18 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 597.45 จุด เพิ่มขึ้น 0.62% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์ จากแรงกดดันของแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร จากแรงซื้อทางเทคนิค จากนั้น ตลาดหุ้นปรับลดลงในวันพุธ หลังแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติชะลอลง ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นปรับลดลงในวันศุกร์ จากแรงขยายทำกำไรของนักลงทุนและการประกาศจ่ายปันผลของหุ้นขนาดใหญ่

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,560 และ 1,540 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การพบปะระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของประเทศในยูโรโซน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน