บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (10-12 เม.ย.) เงินบาทอ่อนค่าช่วงสั้นต้นสัปดาห์ แต่ขยับแข็งค่ากลับมาก่อนช่วงวันหยุดสงกรานต์ ทั้งนี้ เงินบาทเผชิญแรงเทขายตามสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และซีเรีย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงย้ำถึงโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาสอดคล้องกับแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ ประกอบกับมีแรงหนุนจากการแข็งค่าของเงินเยน

สำหรับในวันพุธ (12 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 เม.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.30-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (ทั้งระหว่างสหรัฐฯ-ซีเรีย และประเด็นในคาบสมุทรเกาหลี) ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนี PMI ภาคการผลิต (ขั้นต้น) ดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายบ้านมือสอง การเริ่มสร้างบ้าน และการขออนุญาตก่อสร้างเดือนมี.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนก.พ. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/60 ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. ของจีน และตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นก่อนช่วงวันหยุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,589.50 จุด เพิ่มขึ้น 0.38% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 4.21% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,937.96 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 595.07 จุด ลดลง 0.17% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนี SET ขยับขึ้นต่อเนื่อง และปิดตลาดในสัปดาห์นี้ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่ง โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มธนาคาร และพลังงาน ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังมีแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติในช่วงกลางสัปดาห์ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ แม้ว่าบรรยากาศการซื้อขายจะเบาบาง และตลาดยังคงรอดูพัฒนาการของเหตุการณ์ความตึงเครียดในต่างประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,560 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,615 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์ความตึงเครียดในต่างประเทศ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายบ้านมือสอง และเครื่องชี้อสังหาริมทรัพย์ ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ราคาอสังหาริมทรัพย์ ตัวเลขจีดีพี และผลผลิตอุตสาหกรรมของประเทศจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน