นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยระหว่างทีมผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ พบปะผู้บริหารเครือมติชน ว่า เป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการขยายฐานผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดทุนให้ได้ 20 ล้านบัญชี โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ใช้ตลาดทุนในการออม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เปิดบัญชีลงทุนในหุ้น หรือลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งรวมถึงผู้ที่ซื้อประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked-กรมธรรม์ที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม ตลอดจนกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีทส์) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดทุนไม่ว่าจะในไทยรวมถึงทั่วโลกด้วย ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคาร หรือการลงทุนประเภทอื่นๆ เพียงแต่ในระหว่างทางตลาดทุนอาจมีความผันผวนสูงกว่า

“กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์อาศัยบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ในการขยายฐานลูกค้าผู้ลงทุน ซึ่งขณะนั้นมีผู้ลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ราย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ในระยะไม่กี่ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ใช้กลยุทธ์ขยายฐานผู้ลงทุนหน้าใหม่โดยอาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดทุนในกลุ่มลูกค้าเงินฝาก โดยเฉพาะธนาคารที่ยังไม่เคยขายผลิตภัณฑ์การลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นตลาดทุน ให้กับลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ (High Net Worth) ทำให้ปัจจุบันมีฐานผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นถึงปีละ 100,000 บัญชี เป็นระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน ส่งผลให้ปัจจุบันมีคนไทยที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ รวมแล้วประมาณ 2 ล้านบัญชี และมีการเปิดบัญชีผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีกประมาณ 6 ล้านบัญชี”

นายภากร กล่าวและว่า แผนการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากนี้จะมีการสื่อสารระหว่างตลาดทุนกับประชาชน และผู้ที่ได้ประโยชน์ หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ให้เข้ามาใช้ประโยชน์ในตลาดทุนได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจการทำงานของตลาดทุนไม่ครบถ้วน เช่น เข้าใจว่าตลาดทุนทำงานเพื่อนักลงทุน นักระดมทุน หรือคนรวย เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดทุนเกิดขึ้นมาสำหรับทุกคน เนื่องจากตลาดทุนมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่เพียงแค่การลงทุนในหุ้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์กองทุนรวม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือรีทส์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเป็นตัวกลางในการเชื่อมและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อยอดไปได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นต้น จะทำให้ในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น โดยที่ผู้ลงทุนไทยไม่จำกัดเพียงแค่ลงทุนในประเทศ แต่ยังสามารถลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

ขณะเดียวกันปัจจุบันตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt) หรือ DR สามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยชื่อย่อในการซื้อขายว่า E1VFVN3001 ซึ่งออกโดยหลักทรัพย์บัวหลวงโดยมีหลักทรัพย์รับฝากเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 สะท้อนหุ้นชั้นนำ 30 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และทำให้ปัจจุบัน ETF ดังกล่าวมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงขึ้นถึง 120% โดยที่ 60% ของการซื้อขายมาจากนักลงทุนไทย ดังนั้นในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนจะนำหุ้นคุณภาพของไทยเพื่อเข้าไปซื้อขายยังตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นฮ่องกง เพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดทุนของจีน ทั้งนี้การคัดเลือกหุ้นที่จะเข้าไปขายยังประเทศจีนเบื้องต้นจะคัดหุ้นที่คนจีนรู้จักเมืองไทยอยู่แล้ว อาทิ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร เป็นต้น

นายภากร กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดงานเซ็ท อิน เดอะซิตี้ 2019 ที่ผ่านมาเพื่อให้ข้อมูลความรู้ในการลงทุน และส่งเสริมให้รู้จักกับการเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ลงทุนที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนให้เกิดความมั่งคั่งในอนาคต โดยพบว่าผู้เข้าร่วมงาน 50% เป็นผู้ที่ลงทุนในตลาดทุนอยู่แล้ว และอีก 50% เป็นผู้ที่ไม่เคยลงทุนตลาดทุน รวมถึงเมื่อแบ่งกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายที่เข้าร่วมงานก็อยู่ในสัดส่วนเท่ากัน โดยแผนการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการขยายอาณาเขตของตลาดทุนให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน