บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (19-23 มิ.ย. 2560) เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่ยังคงแข็งค่ากว่าระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยแม้เงินดอลลาร์ จะมีปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ว่า เฟดยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี แต่เงินบาทก็ยังคงได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นได้เป็นระยะๆ จากกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรไทย ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย. ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ช่วงขาขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็เป็นไปอย่างจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ มาประเมินจังหวะที่ชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ สำหรับในวันศุกร์ (23 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 33.94 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 มิ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.85-34.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย รายได้ รายจ่าย และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย. และจีดีพีไตรมาส 1/2560

ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,582.36 เพิ่มขึ้น 0.37% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเล็กน้อยประมาณ 0.07% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,813.01 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 576.92 จุด เพิ่มขึ้น 1.16% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงแรก โดยมีปัจจัยลบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก (ซึ่งมีผลกดดันต่อเนื่องต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน) ประกอบกับมีแรงเทขายทั่วตลาดหุ้นในภูมิภาคในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจาก MSCI ประกาศเพิ่มหุ้น A share ของจีนเข้ารวมในการคำนวณดัชนี MSCI EM และ MSCI ACWI Index

อย่างไรก็ดี SET Index ทยอยฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงท้ายๆ สัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขส่งออกไทยเดือนพ.ค. ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ หุ้นกลุ่มพลังงานก็สามารถฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน Thailand’s SET index

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,570 และ 1,555 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การทำ Window dressing สำหรับไตรมาส 2/2560 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2560 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ข้อมูลจีดีพีของประเทศในแถบยุโรป และอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน