นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ยอมรับปีนี้ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนจะปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ส่งผลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยมองว่าไตรมาส 4/2563 น่าจะเห็นตัวเลขหนี้เสียที่ชัดเจน เพราะการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้เป็นเวลานาน เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับไทยมาก่อน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมติดตามและให้ความช่วยเหลือผ่อนปรนให้กับลูกหนี้อยู่แล้ว

“หากลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ไหว แบงก์ก็พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้แบงก์พยายามติดต่อลูกหนี้ตลอดเวลา แต่จะมีลูกหนี้ที่กลับมาชำระตามปกติได้ถึงครึ่งหนึ่งหรือไม่ จากลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยทั้งหมด 16 ล้านราย ก็ยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก คงต้องรอติดตามตัวเลขอีกครั้งหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และการพักชำระหนี้สิ้นสุดลงในช่วงเดือนต.ค.”

ทั้งนี้ ยืนยันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนในระดับสูงและเกินกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 11% จากที่กำหนดระดับเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ 8.5% และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดที่ 10.5% โดยเดือนเม.ย. ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.84% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.62 ล้านล้านบาท สัดส่วน 18.90% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกค้าสถาบันการเงินล่าสุด โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซอฟต์โลน ของธปท. อนุมัติสินเชื่อแล้ว วงเงิน 90,499 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 56,312 ราย ในจำนวนนี้กว่า 76.4% หรือ 43,030 ราย เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท ส่วนเอสเอ็มอีรายกลางมีวงเงินสินเชื่อในช่วง 20-100 ล้านบาท และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่มีวงเงินสินเชื่อในช่วง 100-500 ล้านบาท ได้รับซอฟต์โลนจากธปท. แล้ว 9,825 ราย และ 3,457 รายตามลำดับ

ส่วนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยนั้น สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าและช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยไปแล้ว 16.37 ล้านราย คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.84 ล้านล้านบาท จำนวนดังกล่าวเป็นลูกหนี้รายย่อย 15.22 ล้านราย ขณะที่สัดส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.14 ล้านราย และรายใหญ่ 5,028 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน