นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทย หรือหุ้นกู้ ปี 2561 คาดว่าภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้ 6-6.5 แสนล้านบาท จากปีก่อน 8.3 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากในปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเอกชนรายใหญ่ที่มีแผนลงทุนพิเศษ เช่น การเข้าซื้อกิจการ การขยายธุรกิจ โดยไตรมาส 1 ปีนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ออกหุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท และ ในช่วงเดือนเม.ย. นี้ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จะออกหุ้นกู้อีก 2.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ 3 เดือนแรกภาคเอกชนออกหุ้นกู้ไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่

ทั้งนี้ การที่ภาคเอกชนหันมาระดมทุนออกหุ้นกู้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำในขณะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี และบางรายออกตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ก่อนที่เกณฑ์ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่กำหนดให้เอกชนไม่สามารถขายตั๋ว บี/อี ให้นักลงทุนรายใหญ่และสถาบันได้ ทำให้เอกชนเร่งการออกตั๋ว บี/อี

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดสารหนี้ไทย กล่าวว่า กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ยังไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยจอย่างต่อเนื่อง หลังไตรมาส 1 ปีนี้ มีการซื้อสุทธิเพิ่มขึ้น 3.86 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะยาว 5.25 หมื่นล้านบาท และ ลดการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้น 1.39 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจัยที่หนุนทำให้เงินทุนยังไหลเข้า เนื่องจากไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ขณะที่เงินเฟ้อของไทยยังต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรไทย 10 ปี มีอัตราที่ต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐเป็นครั้งแรก โดยของไทยอยู่ที่ 2.56% ของสหรัฐ 2.74% ก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน