นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย มีการควบรวมกิจการ โดยมีมาตรการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 600-1,400 ล้านบาท แต่จะเกิดการชดเชยด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนปรับปรุงระบบคอร์แบงกิ้ง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 3,000-7,000 ล้านบาทต่อราย และระยะเวลาที่สามารถใช้มาตรการนี้ ตั้งแต่เกิดการควบรวมจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565

ทั้งนี้ มาตรการจูงใจดังกล่าวเนื่องจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-63) มีนโยบายหลักด้านหนึ่งคือการสนับสนุนการเชื่อมต่อการลงุทนในภูมิภาคเพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของไทยเพื่อให้สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนและการเชื่อมโยงของประเทศในภูมิภาค โดยมีมาตรการเพื่อสร้างความพร้อมและลดอุปสรรคของสถาบันการเงินไทยในการขยายกิจการไปต่างประเทศ

เมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ไทยกับประเทศในอาเซียนแล้วพบว่าส่วนของไทยยังต้องพัฒนาทั้งในเชิงประสทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ด้านของขนาดเองพบว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของไทยมีสินทรัพย์ขนาดประมาณ 3 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับมาเลเซียมีขนาด 4 ล้านล้านบาท จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีการควบรวมเพื่อให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น

ดังนั้น การหักค่าใช้จ่ายได้นั้นแยกตามกลุ่มขนาดธนาคารภายหลังการควบแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1. ขนาดสินทรัพย์เกินกว่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เทียเท่ากับธนาคารประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศมาเลเซีย สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง กลุ่มที่ 2 ขนาดไม่ต่ำกว่า 3 แต่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาท หักค่าใช้จ่ายได้ 1.75 เท่า กลุ่มที่ 3 ขนาดสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 2 แต่ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท หักลดหย่อนได้ 1.5 เท่า และ ขนาดรวมไม่ต่ำกว่า 1 แต่ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท หักลดหย่อนได้ 1.25 เท่า

นายณัฐพร กล่าวว่า มาตรการภาษี ที่ได้รับการอนุมัติครั้งนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อขจัดอุปสรรคของการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ไทย ประกอบด้วย 1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ผู้ถือหุ้นธนาคารสำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าทุน 2. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน และ 3. ยกเว้นภาษีมูลค่า ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคาร สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน

ส่วนที่ 2 มาตรการภาษีที่ให้ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบรวมทั้งหมดหรือบางส่วนสามารถหักค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากัน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารถาวร การรือถอนเครื่องจักรส่วนประกอบ ที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและหรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือในอัตราส่วนที่กำหนด โดยจะต้องเป็นรายจ่ายที่สามารถหักรายจ่ายได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน