กว่าจะมาถึงวันนี้ ‘เบนซ์’ ญาณวิทย์ คันธราษฎร์ โค้ชไทยดีกรี UEFA A Licence คนแรก พร้อมปลุกปั้น ‘อะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี’ สานฝัน ‘แบทยังบลัด’ สู่นักเตะอาชีพ

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จแค่วันเดียว ฉันใดก็ฉันนั้น “อะคาเดมี่ลูกหนัง” ที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง เฉกเช่นเดียวกับสโมสร “ค้างคาวไฟ” สุโขทัย เอฟซี ของประธานใหญ่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวด้วยงบประมาณหลักร้อยล้าน โดยหวังให้ “อะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี” เป็นศูนย์พัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพ และเป็นแหล่งบ่มเพาะ “แบทยังบลัด” ให้ก้าวสู่นักเตะอาชีพที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

แล้วเหตุผลอะไร ทำไมประธานสโมสรสุโขทัย เอฟซี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ถึงตัดสินใจเลือก “โค้ชเบนซ์-ญาณวิทย์ คันธราษฎร์” บุคคลโนเนมของวงการฟุตบอลไทย ให้มานั่งตำแหน่งสำคัญคือ “ผู้อำนวยการอะคาเดมี่” ที่ควบคุมดูแลทั้งการบริหารจัดการ และการพัฒนาฝีเท้าของเด็กในสังกัด

คำตอบของคำถามนี้ “ประธานสมศักดิ์” พูดไว้คำเดียวคือ “เชื่อมั่นว่าเขาทำได้”

สำหรับ “ญาณวิทย์” หรือ “โค้ชเบนซ์” แท้จริงเขาไม่ใช่คนไม่มีประวัติ หากสืบค้นอย่างจริงจังจะพบว่า ชื่อ “ญาณวิทย์” นั้นคือ ผู้ฝึกสอนฟุตบอลคนไทยคนแรกที่ได้รับ “UEFA A Licence” หลังจากที่ใช้เวลากว่า 10 ปี อุทิศตัวฝึกฝนถึงเมืองผู้ดี ประเทศอังกฤษ

จุดเริ่มต้นของ “โค้ชเบนซ์” กับเส้นทางผู้ฝึกสอนนั้น เดิมทีไม่ใช่เป้าหมายสายหลัก เพราะเขามีความฝันตั้งแต่วัยเด็กว่า อยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

“ตอนผมยังเด็ก พ่อพาผมไปดูซีเกมส์ที่เชียงใหม่ ผมก็ชอบและอยากเป็นนักฟุตบอล จนมาถึงอายุ 14 ผมมีโอกาสเข้าแคมป์เยาวชนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ที่อังกฤษ ผมตัดสินใจว่าจะไม่เรียนแล้ว อยากไปเป็นนักบอล” โค้ชเบนซ์ เล่าที่มา

แต่ด้วยครอบครัว “คันธราษฎร์” ร้องขอเรียนให้จบปริญญาตรีก่อน ทำให้ “โค้ชเบนซ์” ทุ่มเทเต็มที่ให้กับการเรียน ทั้งสอบเทียบชั้น ม.5 ม.6 เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยให้เร็วที่สุด ก่อนจะเรียนจบปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ ที่ม.พายัพ จ.เชียงใหม่ เมื่ออายุเพียง 20 ปี จึงได้ไฟเขียวจาก “ครอบครัว” ให้บินลัดฟ้าไปแสวงหาเส้นทางตามฝัน ที่ประเทศอังกฤษ

“เมื่อผมเรียนจบ ผมไปอังกฤษแบบแบ็คแพ็ค ใช้วีซ่านักเรียน หอบเงินติดตัวไป 180 ปอนด์ ซึ่งเงินจำนวนเท่านั้นพอเป็นค่าเช่าที่พักเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ผมต้องทำงานพิเศษ เป็นเด็กล้างจานในร้านอาหาร เป็นกรรมกรแบกปูน ขณะเดียวกันลองไปคัดตัวกับสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นที่เขาเปิดรับสมัครไปด้วย”

“โค้ชเบนซ์” ทำแบบนั้นนานนับปี แต่ไม่มีทีท่าว่าจะประสบผลตามคาดหวัง เพราะไม่มีสโมสรฟุตบอลไหนเรียกตัว แต่เขาไม่ย่อท้อ ยังตั้งใจซ้อมบอลให้หนักกว่าเด็กฝรั่ง แม้จะไม่มีโค้ชคอยแนะนำ แต่การทุ่มสุดตัวเพื่อซ้อมให้หนักนั้น กลายเป็นชนวนเวลาที่ทำลายความฝันของ “เบนซ์” ด้านนักฟุตบอลในที่สุด

“ผมซ้อมหนัก ซ้อมแบบไม่มีโค้ช แต่ผลที่ได้ คือ ร่างกายอ่อนล้า วิ่งไม่ครบ 90 นาที และบาดเจ็บหนัก คือเอ็นหัวเข่าฉีก ต้องเลิกเล่นฟุตบอล ตอนนั้นผมรู้แล้วว่าความฝันของการเป็นคนไทยที่ได้รับโอกาสเป็นนักฟุตบอลในลีกยุโรปคงเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ไม่อยากละทิ้งความฝัน จึงผันความคิดไปสอนเด็กให้ซ้อมฟุตบอลอย่างเป็นระบบ”

ตอนนั้นถือเป็นความโชคดีของ “เบนซ์” ที่ได้รู้จัก “คุณนิกกี้ – ธัญญรัตน์ ศานติชาติศักดิ์” เจ้าของร้านอาหารไทยในลอนดอน ชื่อ “ไทโถ” และเขาได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ แม้ “เบนซ์” จะมีตำแหน่งงานประจำทำแล้ว เขาก็ยังไม่ละทิ้งความตั้งใจ เพราะได้ลงเรียนเป็นผู้ฝึกสอน ตามหลักเกณฑ์ของ ยูฟ่า ซึ่งไล่ระดับจาก UEFA D Licence, UEFA C Licence, UEFA B Licence และ UEFA A Licence ภายในเวลา 9 ปี

โดยมีประสบการณ์ได้ทำงานร่วมกับสโมสรชื่อดัง ทั้งเป็นสต๊าฟโค้ชทีมหญิง คริสตัล พาเลซ ในปี 2558, เป็นสต๊าฟโค้ช ให้กับอะคาเอมี่ เบรนท์ฟอร์ด เอฟซี ในปี 2555, เป็นสต๊าฟโค้ช เอเอฟซี วิมเบิลดัน ในปี 2554 และ ร่วมงานกับสโมสรคิงส์โตเนียน เอฟซี เมื่อปี 2551

แต่ใน 9 ปีสำหรับการอบรมและเรียนรู้นั้น ไม่ใช่จะผ่านได้ง่ายดาย “โค้ชเบนซ์” เล่าว่า ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม เพราะตามหลักสูตรของยูฟ่า ต้องไปฝึกสอนนักกีฬาในสโมสรฟุตบอลด้วย และความเป็นคนเอเชีย คนฝรั่งจึงไม่ยอมรับสถานะ และเมื่อผ่านแต่ละระดับไลเซ่น แล้ว กว่าจะสมัครอบรมไลเซ่นถัดไป โดยเฉพาะ เอ ไลเซนส์ ต้องถูกทดสอบอย่างหนักกว่าจะถูกรับไว้พิจารณา

“กว่าที่ผมจะผ่านไปเรียน เอไลเซ่น ได้ ผมถูกบอกให้ไปอบรมเฉพาะทาง เมื่อไปอบรมมาแล้ว เขาบอกยังไม่พอ ต้องไปอีก ทำให้ผมต้องไปอบรมมันทุกตำแหน่งเพื่อเขาจะไม่มีข้ออ้างที่จะไม่รับ แต่แม้จะอบรมทุกตำแหน่งแล้ว เขายังไม่รับทันที บอกว่าต้องขอดูการสอนของผมก่อน 3 ครั้ง”

แต่ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ในที่สุด “ญาณวิทย์” ก็ผ่านการพิจารณาและรับเข้าอบรม A Licence และผ่านหลักสูตรการเป็นผู้ฝึกสอนในที่สุด และเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับ UEFA A Licence ในรุ่นนั้น

เมื่อประสบความสำเร็จในทางเลือกที่สองของชีวิตแล้ว “โค้ชเบนซ์” หอบความภูมิใจกลับมายังเมืองไทยบ้านเกิด และเปิดอะคาเดมี่ ที่จ.เชียงใหม่ ในชื่อว่า “ญาณวิทย์ อะคาเดมี่” และด้วยที่โชคชะตาเลือกเส้นทางให้เขาไว้ จึงทำให้เขาได้รู้จักกับ “ประธานสโมสรสุโขทัย เอฟซี” ที่วางแผนอย่างมีเป้าหมายของการพัฒนานักเตะรากหญ้า ไปสู่ความเป็นมืออาชีพ และ“โค้ชเบนซ์” ก็มีความฝันและเป้าหมายแนวทางเดียวกัน จึงตกลงร่วมวงสร้างอะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี เพื่อเป็นแหล่งปั้นดาวรุ่งมุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพ

หลังเข้ารับบทบาท “ผู้อำนวยการอะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี” แล้ว “โค้ชเบนซ์” เปิดใจถึงแผนสร้างดาวรุ่งว่า “การสร้างเด็กไทยให้เติบโตไปสู่วงการบอลโลก ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่พัฒนาให้ถูกทาง เดิมเรามองว่า เด็กต้องแข็งแรง ต้องปะทะ ต้องเร็ว แต่ความจริงสิ่งที่ต้องฝึกเด็ก คือต้องพัฒนาการประสานงานและการสื่อสารกับเพื่อนในทีม ต่อมาคือ การพัฒนาการตัดสินใจ และพัฒนาเทคนิค ทักษะ เพราะหากเด็กสามารถสร้างการสื่อสารได้ ตัดสินใจรวดเร็ว จะสร้างสรรค์โอกาสทำเกมที่ออกมาได้ดี”

“อะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี เราจะเน้นสร้างเด็กให้พัฒนาเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพ มีความฉลาด ตัดสินใจได้เฉียบขาด มีความอดทน เพื่อให้เขาก้าวไปสู่ความเป็นนักเตะมืออาชีพและตรงสเปคกับการใช้งานในทีมฟุตบอล สำหรับการฝึกซ้อมนั้น ผมมั่นใจว่าแบบแผนที่ได้ฝึกฝนมานั้นมีความเป็นมาตรฐาน ที่ปรับให้เข้ากับรูปแบบของไทย ซึ่งจะนำพาไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่สโมสรสุโขทัย เอฟซี คาดหวัง ภายใน 3 ปีต่อจากนี้”

สำหรับอะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี ที่ “โค้ชเบนซ์” ทำหน้าที่ดูแลและบริหารนั้น นอกจากจะมีแบบฝึกที่เป็นมาตรฐานสำหรับนักเตะแล้ว เขาต้องการที่จะพัฒนา “เครือข่ายแมวมอง” ตามหัวเมืองต่างๆ โดยใช้ ครูพละประจำโรงเรียน ให้เฟ้นหา “ช้างเผือก” นักฟุตบอลที่มีทักษะดี เข้าสู่การฝึกฝนที่มีมาตรฐานของอะคาเดมี่ฯ

3 ปีต่อจากนี้ เราคงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ “อะคาเดมี่ สุโขทัย เอฟซี” แหล่งปั้นนักเตะรากหญ้ามาประดับวงการฟุตบอลของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ภายใต้การบริหารจัดการของโค้ชฟุตบอลมาตรฐานยุโรปสไตล์ไทยอย่าง “โค้ชเบนซ์” ญาณวิทย์ คันธราษฎร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน