ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ : รายงานพิเศษ

 

ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ : รายงานพิเศษ“เรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิกฟู้ด คนในประเทศไทยมักถูกบ่มจนเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ หรือทำยาก ผมเองต่อสู้เรื่องนี้มา 40 กว่าปี คิดว่าวันนี้กรอบความคิดคนเปลี่ยนไปเยอะ เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จ นอกจากนี้ มาตรการกดดันทางภาครัฐ ต้องให้เหมือนกับประเทศอื่นๆ 52 ประเทศ ที่ห้ามนำเข้าสารพิษ”

เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในงาน “สรุปผล 1 ปี การขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism) และร่วมกำหนด ทิศทางการขยายผล” ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

 

งานนี้ได้เชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วม พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “เส้นทางการขับเคลื่อนโรงแรมต้นแบบ Organic Tourism” มีผู้บริหารจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรมาถ่ายทอดประสบการณ์และเสนอแนะในประเด็นต่างๆ โดยขับเคลื่อน Organic Tourism จนถึงปัจจุบันมี ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร เข้ามาร่วมกว่า 20 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

นายวิวัฒน์บอกว่า ถ้าจะขับเคลื่อนสังคม ต้องสร้างตัวอย่างเรื่องความสำเร็จ

วิถีอินทรีย์ Organic Tourism

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงบอก เราก็มาทำตัวอย่างความสำเร็จ เรื่องที่ยากที่สุด ดินยาก น้ำยาก เรื่องดินเลวที่สุด จนวันนี้ไม่น้อยกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ขอส่งคนมาเรียนอยู่ที่นี่ เพื่อจะไปทำบ้านเมืองตัวเองให้มีอาหารที่เป็นธรรมชาติกิน รู้สึกว่าประสบความสำเร็จขั้นที่ 1 เราสร้างตัวอย่างได้ แต่ว่ามันก็เพียงแค่เกษตรกรรายเล็กๆ รายเดียว คำถามที่จะเคลื่อนต่อ เราต้องทำอะไรบ้าง ผมก็เห็นภาพว่ากฎหมายยังไม่เป็นของเรา กฎหมายเอื้อต่อระบบการค้าของเคมีที่เป็นพิษทั่วโลก”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯกล่าว และว่า จะชักชวนทุกโรงแรม ทุกโรงพยาบาล เพราะโรงแรม โรงพยาบาล กับโรงเรียน เป็นตลาดหลักของเกษตรกร อีกทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งขนเงินเข้าประเทศมาก ต้องได้กินอาหารที่ดี และเป็นธรรมชาติ อันนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องช่วยกันรณรงค์

สิ่งที่นายวิวัฒน์สะท้อนนั้นเป็นภาพใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานพอสมควรทีเดียว

ขณะที่ นายอรุษ นวราช กก.ผจก.สวนสามพราน จ.นครปฐม และผู้ร่วมก่อตั้งแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์ภายใต้ “สามพรานโมเดล” กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ และผู้ผลิต ความท้าทายในการขับเคลื่อนคือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนออกนอกกรอบเดิมๆ และมาทำงานร่วมกัน โดยต้องให้ทั้งสองฝ่ายยืดหยุ่น เช่น เกษตรกรต้องวางแผนการผลิต ส่วนผู้ประกอบการเอง แต่เดิมสามารถสั่งผลผลิตอะไรก็ได้จากพ่อค้าคนกลาง แต่ผลผลิตอินทรีย์จะเป็นไปตามฤดูกาล ดังนั้น ต้องมีเทคนิคในการสื่อสารกับลูกค้า

วิถีอินทรีย์

นายอรุษบอกว่า ปีแรกเป็นอะไรที่อยากที่สุด แต่ ผลการดำเนินงานปีแรกก็ได้เห็นภาพชัดขึ้น โดยจัดโรงแรมให้เกษตรกรมาทำงานร่วมกัน ปีต่อไปจะขยายผลไปจังหวัดต่างๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ไปเชียงราย ลำพูนไปลำปาง ซึ่งจะตอบนโยบายของ ททท. เรื่องเมืองรอง เมืองหลักเมืองรองเกื้อกูลกัน ปีต่อไปเป็นปีที่ต้องนำผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม

“การขับเคลื่อน Organic Tourism คือการใช้หลักการของสามพรานโมเดล มาปรับกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยใช้อาหารอินทรีย์มาเป็นตัวเชื่อม พร้อมยกระดับทั้งห่วงโซ่อาหาร”

ด้าน นายณัฐพันธุ์ ศุภกา ผอ.สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์ฯ สสส. ให้ข้อมูลว่า ในอนาคตจะมีการพาลูกค้าลงพื้นที่ไปยังฟาร์มเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เกิดความเชื่อมั่นต่อเกษตรกร ซึ่งความรอบรู้เหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค อาหารที่ดีต่อสุขภาพตามมา

ส่วน นายอุดม หงส์ชาติกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแล็บอาหาร ยั่งยืนฯ มองว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ไม่ใช่แค่ได้บริโภคอาหารที่ดี สุขภาพดี หากแต่สุขภาวะโดยรวมของ ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมใน Organic Tourism ดีขึ้นจากการมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ มีจิตใจที่ดีเอื้ออาทร มีมิตรไมตรีต่อกัน มีสังคมที่ดีเป็นประโยชน์นอกเหนือจากการมาร่วมสร้างระบบอาหารให้ยั่งยืน

ทีนี้ลองมาฟังในซีกของผู้ประกอบการโรงแรม นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า การใช้วัตถุดิบออร์แกนิกไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสูงขึ้น หากเชฟมีเทคนิคในการประกอบอาหาร ส่วนของผู้บริโภคทางโรงแรมก็เล่าให้ลูกค้าฟังว่าเสิร์ฟข้าวออร์แกนิก ลูกค้าก็ประทับใจ นี่คือประโยชน์ที่ได้ ปีที่แล้วเริ่มซื้อผักผลไม้จากเกษตรกรด้วยเช่นกัน

“การเข้าร่วมโครงการ มันต้องตอบโจทย์ธุรกิจได้ เราก็ต้องประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดสตอรี่ขึ้นมา แล้วกิจกรรมนี้ก็ต้องสร้างแบรนด์ให้กับเราด้วย มันถึงจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในแง่ของธุรกิจ”

โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล แบงค็อก เป็นอีกแห่งที่เข้าร่วมโครงการ โดยชู เลง โก ผู้จัดการทั่วไปกล่าวว่า ได้ซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกรเพื่อนำมาใช้ที่ห้องอาหารไทย และมีการสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ว่าทางโรงแรมมีเมนูอินทรีย์ ซึ่งผลการตอบรับจากลูกค้าถือว่าดีมาก ปัจจุบันมียอดการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ 70% ในอนาคตตั้งเป้าให้เป็นร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์ทั้ง 100% พร้อมกับจะจัดทริปพาลูกค้าไปเยี่ยมชมออร์แกนิกฟาร์ม

วิถีอินทรีย์

โรงแรมอีกแห่งคือ แทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ และโรงแรมรายเฮอริเทจ เชียงใหม่ น.ส.ณภัทร นุตสติ ผู้จัดการทั่วไปเล่าว่า หากบริหารการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ให้ดี จะพบว่าไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเลย และโรงแรมยังมีแนวคิดต่อยอดในการส่งเสริมให้ครอบครัวพนักงาน ที่ทำเกษตรอยู่แล้ว หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโรงแรม

ในส่วนของเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) นายกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน กล่าวว่า ได้นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ไปพบกับชาวสวน เพื่อเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ เห็นการพึ่งพาตนเองจนเกิดการซื้อขายโดยตรงระหว่างบริษัท และเกษตรกร โดยเริ่มจากฝรั่งออร์แกนิกเป็นสิ่งแรก ปรากฏว่าลูกค้าตอบรับอย่างดี

ขณะที่ นางประหยัด ปานเจริญ ประธานกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ บ้านหัวอ่าว จ.นครปฐม เล่าว่า จากการปรับตัว ร่วมทำงานกับผู้ประกอบการ ทำให้รู้ความต้องการ เห็นปัญหาว่าผลผลิตยังไม่ได้คุณภาพ จึงต้องปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพก่อนส่งมอบ ทำให้สามารถวางแผนและปรับตามความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ส่วน น.ส.อรุณี พุทธรักษา ประธานกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.นครปฐม เล่าว่า การทำงานร่วมกันทำให้รู้และเข้าใจปัญหาของทุกฝ่าย เมื่อมาคุยกัน เข้าใจกัน ยอดการผลิตก็เริ่มลงตัว รายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มมากขึ้น จากส่วนที่ส่งไปโรงแรมในกรุงเทพฯ

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่าเส้นทาง ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ในบ้านเราแม้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็เดินหน้าไปด้วยดี ที่สำคัญทุกฝ่ายแฮปปี้

รายงานพิเศษโดย…ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

..อ่าน..

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน