พระนั่ง วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี : คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

พระนั่ง วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี – พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองขนาดใหญ่ นั่งห้อยพระบาท สูงประมาณ 11 วา หรือ 23.171 เมตร เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ อยู่ในศิลปะสมัยอู่ทอง มีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี มีการซ่อมบำรุงกันถึง 3 ครั้ง ตามตำนานเล่าขานกันมาว่า ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.1706 โดยกลุ่มของชาวมอญซึ่งเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ครั้งที่สอง สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ พระเจ้าเอกทัศ และสร้างวิหารครอบพระพุทธรูปองค์นี้

ครั้งที่ 3 สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซ่อมบำรุงขยายพระวิหารและซ่อมบำรุงหลวงพ่อโตองค์นี้

เดิมทีเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในปางปฐมเทศนา แสดงธัมมจักรกัปปวัตนสูตร เรื่องอริยสัจ 4 แก่ปัญจวัคคีย์ พระหัตถ์ 2 ข้าง บรรจบกันเว้นวงซ้อนกัน (ที่หมายถึง กงล้อแห่งธรรมได้หมุนมายังพื้นที่นี้แล้ว)

พระนั่ง วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี

ภายหลังพระกรทั้งสองข้างหักลงจึงบูรณะเปลี่ยนเป็นปางป่าเลไลยก์ คือ พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำลงที่หัวเข่า ส่วนพระหัตถ์ขวา วางหงายบนหัวเข่าแสดงกิริยาคือ การรับของ

คติสัญลักษณ์ของพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เป็นเรื่องราวของการแยกตัวของพระพุทธเจ้า เสด็จหลีกบรรดาภิกษุมากรูปที่เป็นผู้ว่ายาก วิวาทกัน ไม่อยู่ในโอวาท ประพฤติตามใจด้วยอำนาจทิฐิ ไปประทับอยู่ในป่ารักขิตวันพระองค์เดียว โดยมีช้างชื่อปาลิไลยกะ ที่เป็นเจ้าแห่งโขลงช้าง และลิง 1 ตัว เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์

เป็นคติคำสอนในเรื่องความสำรวมในการอยู่ด้วยกัน หรือมีความสามัคคีในธรรมเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง โกลาหลวุ่นวาย ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ประพฤติตามใจตัวด้วยอำนาจ มานะ (ความถือตัว) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ไม่มีขันติ (ความอดกลั้น (ต่อบาป) และโสรัจจะ (ความเสงี่ยมเจียมตัว) ย่อมได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับการต้อนรับ ไม่ได้รับการบำรุงจากผู้อื่น

โดย…ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน