สีโกงกางบางตะบูน มัคคุเทศก์ป่าชายเลน

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

สีโกงกางบางตะบูน มัคคุเทศก์ป่าชายเลน การเผาถ่านโกงกางเป็นอาชีพประจำชุมชนของคนบางตะบูน เราจึงมักจะเห็นการตัดป่าโกงกางขนาดหลายไร่เพื่อนำไปเผาถ่าน หลายคนอาจคิดว่าเป็นการตัดไม้ทำลายป่าชายเลน แต่สำหรับเด็กๆ ชาวบางตะบูน การตัดป่าโกงกางคือตำรานอกห้องเรียนชั้นดีของเด็กๆ

แปลงต้นโกงกางปลูกใหม่

“ชุมชนเราเมื่อตัดต้นโกงกางจะมีการปลูกทดแทนนะคะ ชาวบ้านจะมีไร่โกงกางเป็นของตัวเอง เมื่อไม้มีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไปจะเหมากับเตาเผาถ่านแล้วก็ตัดไป จากนั้นก็ปลูกทดแทน เมื่อครบ 10 ปีก็จะตัดได้อีกรอบ ไม่ได้เป็นการทำลายพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์นะคะ เพราะทุกแปลงเป็นพื้นที่เอกชนค่ะ” น้องซี น.ส.พรทิพย์ พงษ์พาณิช เยาวชนรักษ์ป่าชายเลน โรงเรียนบางตะบูนวิทยา เล่าถึงอาชีพดั้งเดิมของชุมชน

กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าชายเลน เป็นกลุ่มเด็กๆ โรงเรียนบางตะบูนวิทยา ซึ่งเป็นเด็กในชุมชน อ.บางตะบูน จ.เพชรบุรี รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ฝึกฝน ถ่ายทอดวิชาโดย คุณครูแดง ชมภูนุช ประเสริฐจิตร์

กลุ่มเยาวชนและครูแดง

“เริ่มมาประมาณปี 2535 นะคะ ตอนแรกคณะครูทำกันเองในการให้ความรู้ เราก็อยากให้เยาวชนในท้องถิ่นได้รับความรู้จากที่เราถ่ายทอดไปด้วย เลยเปิดรับสมัครว่าใครสนใจจะมาเป็นมัคคุเทศก์ ก็เลยมีมัคคุเทศก์ขึ้นมาเพราะคนที่ดูแลป่าชายเลนสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่คนอื่นได้ เพราะซึมซับอยู่ในตัวเขาเข้าไปตลอดแล้วก็สามารถดูแลป่าได้ในอนาคต คนที่ดูแลป่าได้ดีที่สุดคือคนในชุมชนเองค่ะ”

เด็กๆ สาธิตมัดลายผ้า

กิจกรรมหลักของเด็กๆ จึงเป็นมัคคุเทศก์น้อยพาชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนหลังโรงเรียน เมื่อมีผู้สนใจติดต่อมาที่โรงเรียนเพื่อขอเข้าค่ายอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลน อีกทักษะหนึ่งที่เด็กๆ ได้ฝึกไปด้วยคือการทำผ้ามัดย้อม ผลพลอยได้จากการเผาถ่านโกงกางโดยนำเปลือกของโกงกางมาย้อมสีธรรมชาติ

เปลือกโกงกางเป็นวัสดุเหลือใช้ที่เมื่อชาวบ้านนำไม้โกงกางไปขายโรงเผาถ่านจะต้องทุบเปลือกทิ้งทุกครั้ง เป็นภูมิปัญญาโบราณของชาวบางตะบูน เพราะเมื่อทุบเปลือกโกงกางแล้วกระเด็นใส่เสื้อ เสื้อของชาวบ้านจะเป็นรอยด่างจากยางโกงกาง ชาวบ้านจึงนำเปลือกมาต้มย้อมเสื้อให้กลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม เด็กๆ นำความรู้นี้มาต่อยอด เด็กๆ กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าชายเลนจึงลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อเก็บเปลือกโกงกางไปสาธิตทำผ้ามัดย้อมเป็นประจำ

คุณป้าทุบเปลือกโกงกาง

“วันนี้เรามาทุบเปลือกโกงกาง เพื่อนำเปลือกไปต้มเป็นผ้ามัดย้อมแล้วนำไปย้อมเสื้อ ที่ชาวบ้านต้องทุบเปลือกออกเพราะว่าเวลาเอาไปเผาถ่านทั้งไม้ ส่วนเปลือกจะทำให้ถ่านเสียค่ะ แล้วก็จะเบาด้วยเพราะว่าน้ำหนักเนื้อไม้ไปอยู่ที่เปลือก เป็นวิถีชุมชนของคนบางตะบูน ทำกันมานานแล้วค่ะ” น้องนุ่น น.ส.เพชรจิรา เชยกลิ่น แกนนำกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าชายเลน เล่าขณะนำน้องๆ เก็บเปลือกโกงกางจากชาวบ้านที่กำลังทุบท่อนโกงกาง

ชาวบ้านยินดีที่จะให้เปลือกไม้เหล่านี้กับเด็กๆ เพราะเป็นของเหลือใช้แต่ช่วยการศึกษาของเยาวชน และการเห็นลูกหลานมีความสุขจากการเรียนรู้ในชุมชนตนเองถือเป็นความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป

เด็กๆ เยาวชนรักษ์ป่าชายเลน โรงเรียนบางตะบูนวิทยา อ.บางตะบูน จ.เพชรบุรี พร้อมเป็นมัคคุเทศก์น้อยป่าชายเลน และสอนการมัดย้อมลายผ้าสวยๆ ให้ผู้สนใจมาเรียนรู้ดูงาน อยากชมเรื่องราวการเรียนรู้จากชุมชนของเด็กๆ ติดตามในรายการทุ่งแสงตะวันตอน “สีโกงกางที่บางตะบูน” วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายนนี้ เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 ช่อง 33

มัณฑนา ชอุ่มผล

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน