ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี – ใครที่ชอบกินกระท้อน ขอบอกงานนี้ไม่ควรพลาดนั่นคือ “งานเทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี” ระหว่างวันที่ 5-16 ก.ค. บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 28

โดย นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผวจ.ลพบุรี เป็นประธานเปิดงานไปเรียบร้อยแล้ว ในงานมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระท้อนหวานเมืองลพบุรี การแปรรูปกระท้อน การจำหน่ายสินค้าโอท็อปของ จ.ลพบุรี การจัดแสดงพันธุ์ไม้ และสินค้าของดีเมืองลพบุรี

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

ภายในงานชาวสวนกระท้อนจะนำกระท้อนหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น พันธุ์ปุยฝ้าย, พันธุ์อีล่า, พันธุ์นิ่มนวล และพันธุ์ทับทิม มาจำหน่าย พร้อมผลผลิตจากกระท้อนแปรรูป อย่างเช่น กระท้อนลอยแก้ว, กระท้อนกวน, กระท้อนทรงเครื่อง ซึ่งในงานดังกล่าวมีการประกวดกระท้อนสายพันธุ์ต่างๆ ด้วย และมีบางสวนที่ปลูกแบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย แต่ราคาก็อาจจะแพงกว่ากระท้อนทั่วไป

คุณระเบียบ พึ่งวัน อายุ 59 ปี เกษตรกรบ้านโพธิ์ผีให้ ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี เจ้าของสวน ‘ใกล้รุ่ง’ เป็นอีกคนหนึ่งที่ปลูกกระท้อนมาเกือบ 20 ปี มีพื้นที่ปลูก 2 แปลง แปลงแรกอยู่ติดบ้านมีเนื้อที่ไร่กว่า ปลูกทั้งพันธุ์อีล่า, ปุยฝ้าย, ทับทิมและ นิ่มนวล ส่วนอีกแปลงพื้นที่ 5-6 ไร่

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

ระเบียบ พึ่งวัน

เธอเล่าว่า เริ่มปลูกกระท้อนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านั้นเกิดน้ำท่วม ทางเกษตรอำเภอเข้ามาแนะนำให้ปลูก ครั้งแรกไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอมีผลผลิตขึ้นมาและขายได้เงิน ชาวบ้านเลยปลูกกันทั่วไป โดยที่สวนมีต้นที่อายุสูงสุดคือ 25 ปี

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

สำหรับปีนี้ผลผลิตถือว่าใช้ได้ ซึ่งในการปลูกนั้นเน้นใช้กิ่งพันธุ์ เพราะถ้าใช้เมล็ดอาจจะกลายพันธุ์ และต้องใช้เวลานานกว่าจะออกลูก ถ้าใช้กิ่งพันธุ์ไม่เกิน 5 ปีก็ออกลูกแล้ว ที่สวนจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ก็ใช้ปุ๋ยเคมีบ้างผสมกันไป โดยทั้ง 2 สวนปลูกกระท้อนหลายสายพันธุ์

ทั้งนี้ในการทำสวนกระท้อนเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกเป็นรายได้เสริมเท่านั้น เพราะใน 1 ปีจะให้ผลครั้งเดียว ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ก็เก็บผลได้แล้ว แต่จะมีระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือนที่ต้องดูแลใกล้ชิด

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

ถามถึงรายได้ในแต่ละปี คุณระเบียบบอกว่าได้เกือบแสน เนื่องจากไม่ใช่สวนใหญ่ ถ้าเป็นสวนใหญ่มี 10-20 ไร่ รายได้หลายแสนบาท ในส่วนที่เป็นอาชีพเสริมนี้ถือว่าเป็นรายได้ที่ดี เพราะไม่ต้องใช้เวลากับการดูแลเยอะ ช่วงเวลาที่ใช้มากคือตอนห่อ

คุณระเบียบอธิบายถึงการปลูกกระท้อนว่า ต้องขุดหลุมลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร(ซ.ม.) ระยะห่างอยู่ในเกณฑ์ 8-10 ม. หรือ 5-10 ม. เพราะพอต้นโตจะขยายแตกออกไป

ทั้งนี้ช่วงต้นโตแล้วในระหว่างที่ยังไม่ออกดอกจะต้องรดน้ำไม่ให้ขาด รดอาทิตย์ละครั้ง เป็นช่วงที่ยังไม่จำเป็นต้องให้น้ำมาก ประกอบกับหลังจากเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. ยังมีฝนตกอยู่ ทั้งนี้จะไปบำรุงอย่างจริงจังอีกอีกครั้งตอนออกดอกออกช่อ ประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ. ตกประมาณ 6 เดือน

พอออกดอกถึงจะใส่ปุ๋ยเป็นหลัก ให้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์พวกปุ๋ยขี้วัว และใช้ปุ๋ยเคมีด้วย แต่จะเน้นไปทางปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า ในส่วนโคนต้นก็นำหญ้ามาคลุม หรือใช้วิธีปลูกมะระ เพื่อให้มีความชื้น

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

สำหรับปุ๋ยเคมีใช้สูตร 16-16-16 ใส่เพื่อให้ต้นแข็งแรงไม่เฉาเท่านั้นเอง จะบำรุงช่วงที่ออกช่อออกดอกแล้วหลังจากนั้นไปเน้นในการให้น้ำมากกว่า ซึ่งถ้าอากาศร้อนๆ เหมือนในปีนี้ 3 วันก็ให้น้ำแล้ว

คุณระเบียบให้ข้อมูลว่า ปีนี้ช่วงหนาวไม่นานก็ร้อนแล้ว ทำให้กระท้อนออกมารุ่นแรกในเดือนพ.ค. ปีนี้เท่าที่ดูผลผลิตอยู่ในระดับกลางไม่มากหรือน้อยเกินไปเหมือนในบางปี เท่าที่ดูปีนี้เหมือนจะออกดอกเร็วมากเดือน พ.ย. ปีที่แล้วออกดอกชุดแรก ออกเยอะเพราะหนาวแต่พออากาศร้อนก็ร่วงหมด พอออกดอกช่วงที่ 2 ติดลูกมาก

ปกติกระท้อนของ จ.ลพบุรี เก็บขายได้ปีละ 2 ช่วง เนื่องจากจะออกดอกติดผลทิ้งระยะ โดยครั้งแรกติดดอกประมาณกลางเดือนพ.ย. เก็บผลผลิตขายได้ช่วงเดือนเม.ย. ครั้งที่ 2 ออกดอกเดือนธ.ค. และจะเก็บขายได้ช่วงเดือนมิ.ย. ถึงเดือนก.ค. โดยเฉพาะเดือนก.ค.กระท้อนจะสุกเต็มที่และเป็นช่วงที่กระท้อนออกเยอะ ราคาจึงไม่แพงเหมือนช่วงต้นฤดู

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

ในส่วนของราคาขายนั้น เธอว่าถ้าเป็น กระท้อนลูกเล็กไม่ได้ขนาดจะขาย 3 ก.ก. 100 บาท ถ้าเป็นอีล่าและปุยฝ้ายยก.ก.ละ 50 บาท ส่วนนิ่มนวลขาย ก.ก.ละ 70-80 บาท

เกษตรกรรายนี้ระบุว่า ปัญหาของกระท้อนอย่างหนึ่งคือ พอตอนใกล้สุกจะมีแมลงวันทองมาเจาะ ดังนั้น ต้องใช้กระดาษห่อมาหุ้มไว้เพื่อป้องกัน แต่หากไปห่อตอนลูกยังเล็กอยู่ กระท้อนลูกนั้นจะโตช้ากว่าปกติ การที่จะห่อได้นั้นต้องเป็นลูกที่อยู่ในระยะกลางๆ ค่อนไปทางแก่หน่อย

ในการห่อกระท้อนนั้น ถ้าเป็นต้นสูงต้องใช้บันไดขึ้นไปห่อ โดยใช้ถุงปูนซีเมนต์ จะทำให้ลูกกระท้อนสีออกเหลืองน้ำตาลสวย

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

ปัญหาอีกอย่างคือตอนลูกกระท้อนยังเล็ก อาจเจอเพลี้ย ซึ่งจะมากินแค่เปลือก กินรอบนอก บางสวนจะใช้ยาฉีด แต่ที่สวนตนเองจะไม่ใช้ยาฉีด ปล่อยไว้เฉยๆ เพราะกินแค่เปลือก

กระท้อนในสวนใกล้รุ่ง มีทั้งต้นใหญ่และต้นเล็กสลับกันไป ทางคุณระเบียบบอกว่า หลังจากเก็บผลผลิตในเดือนมิ.ย.-ก.ค. เสร็จก็ไม่ได้ตกแต่งกิ่ง หรือทำสาว ปล่อยให้ต้นโตตามธรรมชาติ

ในเรื่องของการจำหน่ายนั้น หากทางจังหวัดจัดงานกระท้อนก็จะไปขายในงาน ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าประจำ ซึ่งจะสั่งพันธุ์ นิ่มนวลอย่างเดียว โดยสั่งครั้งละ 100 ก.ก. เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติหวานกินได้ทั้งเมล็ดและเปลือก ในส่วนเปลือกจะนิ่มไม่แข็ง เป็นพันธุ์ที่ลูกไม่ใหญ่ ระดับกลางๆ ก.ก.หนึ่งมีประมาณ 7 ลูก เทียบกับพันธุ์ทับทิมแล้ว ขนาดจะใหญ่กว่าหน่อย และพันธุ์ทับทิมจะมีรสหวานอมเปรี้ยว อย่างไรก็ตาม พันธุ์ที่ตลาดนิยมเป็นปุยฝ้ายกับอีล่า

จากประสบการณ์ในการทาบกิ่งพันธุ์นิ่มนวล คุณระเบียบบอกว่า ติดยากมาก และหากไปซื้อจะมีราคาแพงกว่าพันธุ์อื่น

ลุยสวนกระท้อนลพบุรี เกษตรกรยิ้มผลผลิตดี-รายได้งาม

นอกจากนี้ ทางสวนใกล้รุ่งยังทำกระท้อนลอยแก้วด้วย และได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับจังหวัดมาแล้ว ขายกระปุกละ 50 บาท สนใจผลผลิตของสวนใกล้รุ่ง ติดต่อที่ 08-9633-7528

ใครที่ยังไม่เคยชิมน้ำกระท้อน ไปงานเทศกาลกระท้อนหวานฯ จะได้ชิมแน่นอน รวมถึงกระท้อนแปรรูปหลากหลายรูปแบบ

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.lopburi.go.th

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน