ชมทุ่งทานตะวัน บึงกุยสะดืออีสาน

โดย…เชิด ขันตี ณ พล

ชมทุ่งทานตะวัน.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นอำเภอเก่าแก่ สันนิษฐานว่าเคยเป็นชุมชน หรือเมืองโบราณ ดูจากลักษณะศิลปะของพระพุทธรูปหลวงพ่อมิ่งเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวโกสุมพิสัย

ที่โกสุมพิสัยมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติน่าสนใจอยู่มากมาย เช่น วนอุทยานโกสัมพี แก่งตาด บึงบอน ลานหินหร่อง เป็นต้น แต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งใน และนอกพื้นที่ในขณะนี้ คือบึงกุยเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ติดถนนสายโกสุมพิสัยมหาสารคาม เนื้อที่ราว 2,700 ไร่

บึงกุยเป็นแหล่งน้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้านหลายตำบล ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่มายาวนาน ทั้งแหล่งประมงพื้นบ้าน แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหมู่บ้าน ใช้อุปโภคบริโภค เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งใช้ในการเกษตร

คำว่ากุยหมายความว่า หนองน้ำที่มีกลิ่นเหม็นคาวปลา เนื่องจากมีปลาและสัตว์อาศัยอยู่หนาแน่นมาก เกิดกลิ่นเหม็นคาว จึงเรียกบึงกุยซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์

ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการของ จ.มหาสารคาม อาทิ สำนักงานโยธาเข้าไปพัฒนาถนนลาดยางรอบบึงกุย ชลประทานเข้าไปขุดลอก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานท่องเที่ยวก็เข้าไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว

ส่วนหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อาทิ อำเภอโกสุมพิสัย เทศบาลตำบลโกสุมพิสัย อบต.หัวขวาง อบต.แก้งแก อบต.เหล่า ก็แบ่งเขตกันรับผิดชอบปรับภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าบึงกุย ให้มีความสวยงามเหมาะกับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

รวมทั้งสถาบันการศึกษาของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ก็เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่บึงกุยแห่งนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ด้านชุมชนที่อยู่ใกล้บึงกุยก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมหลายอย่าง อาทิ งานบุญประเพณีลอยกระทง เตรียมสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่สูง 99 เมตร ประดิษฐานไว้ในเกาะโนนหอ กลางบึงกุย และสร้างสะพานไม้ไผ่สะพานแห่งศรัทธา ให้พระสงฆ์มารับบิณฑบาตที่เกาะโนนหอ เป็นต้น

นอกจากจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมจิตใจ และศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งในและนอกพื้นที่

อีกทั้งบึงกุยอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม พ..2561-2564 ที่เน้นพัฒนาบึงกุยให้เกิดสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับความเป็นศูนย์กลางภาคอีสาน

รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่แข่งกีฬาทางน้ำของจังหวัด โดยจัดการแข่งขันเรือพายแทบทุกปี มุ่งหวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของจังหวัดมหาสารคามออกสู่วงกว้าง

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณด้านหน้าบึงกุยถูกปรับภูมิทัศน์เพื่อให้เกิดความสวยงามหลายอย่าง อาทิ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดสวนหย่อมตกแต่งด้วยหุ่นรูปสัตว์ รูปการ์ตูน สนามเด็กเล่น เป็นต้น

เป็นสถานที่พักผ่อนของคนในพื้นที่และที่ผ่านไปมา แต่จุดแลนด์มาร์กที่สำคัญของ บึงกุย ที่นักท่องเที่ยวมาแวะชมไม่พลาดที่จะต้องพากันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

นั่นคือจุดที่สร้างเป็นประติมากรรมรูปทรงแปลกตาบนเนินดินเตี้ยๆ ด้านหน้าบึงกุย พร้อมกับเขียนตัวอักษรไว้ว่าสะดืออีสานถึงแม้จุดสะดืออีสานที่แท้จริงจะอยู่ห่างออกไปจากจุดนี้ประมาณ 5 กิโลเมตร แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นจึงมีการสร้างสัญลักษณ์สะดืออีสานขึ้นที่บริเวณนี้

นักท่องเที่ยวที่แวะชมมักจะถ่ายภาพบันทึกความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้เคยมายืนอยู่ ณ ศูนย์กลางของภาคอีสานแล้ว

สำหรับสะดืออีสานมาจากสภาพภูมิศาสตร์ จ.มหาสารคาม ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานตามแผนที่ โดยหลักสะดืออีสานอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านเขวา ต.เหล่า อ.โกสุมพิสัย

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นแลนด์มาร์กยอดฮิตในขณะนี้ คือทุ่งทานตะวันอยู่ด้านหน้าบึงกุย เยื้องไปทางทิศตะวันตก ติดริมถนนสายมหาสารคามโกสุมพิสัย

ในช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวชาว จ.มหาสารคาม และจังหวัดใกล้เคียง พาครอบครัวเพื่อนฝูงมาเที่ยวชมทุ่งดอกทานตะวันบานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน นับพันคน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก พากันถ่ายรูปคู่กับดอกทานตะวันที่ออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่งอย่างสวยงามในพื้นที่กว่า 50 ไร่

สำหรับทุ่งทานตะวันสะดืออีสาน ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลโกสุมพิสัย เนรมิตพื้นที่สวนสาธารณะ ปลูกต้นทานตะวัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

นอกจากทุ่งดอกทานตะวันที่สวยงามแล้ว ยังมีสวนดอกไม้ สวนการ์ตูน และสวนสนุกไว้ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นพร้อมกับถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน

สะดืออีสาน บึงกุย ทุ่งทานตะวันโกสุมพิสัย จะเป็นอีกหมุดหมายแลนด์มาร์กมหาสารคาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน