“โดนฝนนิดๆ หน่อยๆ ต้องกินยาดักไว้ก่อน’ ความเชื่อแบบนี้ ยังได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว เป็นหวัดเจ็บคอไม่ต้องง้อยา เดี๋ยวก็หายเอง ถ้าได้นอนพัก ดื่มน้ำเยอะๆ และดูแลตัวเองถูกวิธี”

การรณรงค์สร้างความเข้าใจยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะถูกวิธี โดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถือเป็นการรณรงค์ สัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย หรือ Antibiotic Awareness Week ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญ สำหรับปีนี้เองได้รับความร่วมมือกับ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด กลุ่มใบไม้ในเมือง จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจและความตระหนักในประเด็นดังกล่าว ภายใต้งานใบไม้รักษ์โลก Episode 3 : “ยา อย่า Yah!!” ณ ลานใบไม้ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

“เรามาถึงจุดวิกฤตของการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะมีคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 38,000 คน และสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท” ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ย้ำถึงผลกระทบการการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมให้ข้อมูลว่า ยาต้านเชื้อแบคทีเรียใช้ได้ผลแค่ 10% เพราะเชื้อเกิดการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งปัจจุบันเราตรวจพบยาปฏิชีวนะทั้งในสัตว์และผัก ทำให้คนกินเข้าไปเกิดเชื้อดื้อยามากขึ้นไปอีก

“แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564 เป็นความร่วมมือของหลายๆ กระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร ฯลฯ ที่ร่วมมือกันรณรงค์และขับเคลื่อนอย่างจริงจัง รวมถึงในโรงพยาบาลหลายๆ แห่งที่ไม่จ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับ 3 อาการ คือ หวัด ท้องเสีย และแผลสด ทาง สสส. ร่วมมือกับ กพย. และภาคีเครือข่ายในการรณรงค์สื่อสาร และทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการใช้ยาปฏิชีวินะอย่างถูกวิธี และประชาชนเองก็ต้องกล้าที่จะถามหมอ หรือเภสัชกร ถึงยาที่จ่ายมาให้ว่าถูกกับเชื้อโรคของตัวเองหรือไม่ เพราะถ้ากินยาไม่ถูกกับโรคที่เป็นแล้ว นอกจากจะรักษาไม่หายยังทำให้ภูมิและเชื้อที่ดีในร่างกายถูกทำลายอีกด้วย ดังนั้นการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพตัวเองด้วยหลัก 3อ.2ส. อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ย้ำ

สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย หรือ Antibiotic Awareness Week ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-18 พฤศจิกายน แต่ทาง กพย. ได้เดินสายรณรงค์ทั้งเดือน เพื่อตอกย้ำและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกวิธี และไม่ควรใช้โดยไม่จำเป็น โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เล่าว่า ในปีนี้เองได้ทำงานบูรณาการร่วมกับหลายๆ ภาคีที่เป็นเครือข่ายของ สสส. ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารปลอดภัย หรือแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน รวมถึงการเดินสายรณรงค์ไปหลายๆ จังหวัด เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น

“ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564 ตั้งเป้าหมายไว้ 4 ด้าน คือ 1. การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 2. การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ 3. ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ 4. ประเทศไทยมีระบบจัดการ การดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ซึ่งแต่ละกระทรวง และภาคีที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินงานตามนโยบาย แต่เป้าหมายเชิงนโยบายที่ กพย. รณรงค์มา 6 ปี ก็เกิดขึ้นมาตามที่ตั้งใจไว้ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวและรับรู้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาเราทำสื่อรณรงค์นิทานสำหรับเด็ก คือ เรื่องกุ๊กไก่เป็นหวัด และกระจิบท้องเสีย และอยากสร้างการรับรู้เหล่านี้เข้าไปอยู่ในรายวิชา เพื่อให้เด็กจดจำว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น อันตราย และต้องใช้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้น” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เผย

นอกจากนี้ ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประชาชนเข้าใจว่าเป็นหวัดแล้วต้องกินยา ซึ่งยาที่นึกถึงอันดับแรกคือยาปฏิชีวนะ หรือยาอักเสบ ซึ่ง 3 โรคที่ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ คือ หวัด ท้องเสีย และแผลสด ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่รักษาโรคที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่ายาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา อาจทำให้เกิดการแพ้ยา และดื้อยาในที่สุด ดังนั้นคนรุ่นใหม่ต้องใส่ใจสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพ และใช้ยาที่จำเป็น

มีการพบยาปฏิชีวนะทั้งในเนื้อสัตว์และผัก ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อาหารที่เรากินเข้าไปนั้นมียาปฏิชีวนะ รวมไปถึงสารเคมีที่ตกค้างหรือไม่ การรู้แหล่งปลูกและที่มาของอาหารที่ปลอดภัยทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยหายห่วง โดยงานใบไม้รักษ์โลก Episode 3 : “ยา อย่า Yah!!” ที่จัดโดย บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนและพร้อมจะสื่อสารไปยังประชาชนให้เกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการแนะนำช่องทางการเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัย และยินดีแบ่งปันลานกิจกรรมของบริษัท เพื่อจัดงานที่เป็นประโยชน์กับพนักงาน และประชาชนทั่วไป เพื่อเรียนรู้กิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะร่วมกัน นางสาวแววรัตน์ ชำนาญภักดี ผู้อำนวยการสายงานบุคคลและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด บอกถึงจุดประสงค์การจัดงาน

‘ยา’ แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ช่วยรักษาโรคก็จริง แต่ถ้าใช้ยาผิดก็เท่ากับได้โทษมหันต์ เมื่อเกิดเชื้อดื้อยาขึ้นในตัวเรา เมื่อถึงคราวเจ็บป่วยต่อให้เรามีเงินในการรักษา ก็ไม่มียากรักษาได้ ดังนั้นแค่เราดูแลสุขภาพพื้นฐาน และไม่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่จำเป็น เพียงเท่านี้เราก็มีสุขภาพที่แข็งแรง และห่างไกลจากความเจ็บป่วย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน