ใครว่าดื่มเหล้าแล้วดี อย่าไปเชื่อ!!

ที่ผ่านมาอาจเคยเห็นข้อมูลทางการแพทย์ว่า ดื่มเหล้าดื่มไวน์วันละนิดดีต่อสุขภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นต่อหลอดเลือด หัวใจ ทำให้อายุยืนขึ้น ถ้าดื่มอย่างเหมาะสม จนมีการออกแนวทางการดื่มแบบมาตรฐานออกมาว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1-2 ดริงก์

แต่นั่นเป็นข้อมูลดึกดำบรรพ์ที่เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป เพราะอะไร?

เพราะมีข้อมูลการศึกษาล่าสุดออกมาแล้วว่า ดื่มแม้เพียงนิดเดียวก็ไม่ดีต่อสุขภาพ

ผลการศึกษาดังกล่าว ชื่อว่า ภาระโรคจากการดื่มสุรา ซึ่งเก็บข้อมูลมากกว่า 20 ปี คือ ตั้งแต่ปี 1990-2016 โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเก็บข้อมูลจาก 694 แหล่งข้อมูล 592 งานวิจัย 195 ประเทศ รวม 2.8 ล้านคน ถือเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของแอลกอฮอล์ที่ใช้ข้อมูลเยอะที่สุดที่เคยมีมา และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับโลกอย่าง Lancet

โดยงานวิจัยดังกล่าวชี้ชัดว่า การดื่มเพียง 1 ดริงก์ต่อวันในทุกๆ วัน จะเพิ่มการตาย 4 คนในประชากร 1 แสนคน แม้การดื่มสุราเพียงเล็กน้อย อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจชนิดเส้นเลือดอุดตัน แต่ก็ส่งผลดีเอาในช่วงผู้หญิงวัยกลางคน และผู้ชายในวัยอายุ 90 ปี แต่เพิ่มจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคกว่า 200 โรค ทั้งกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งจับ เต้านม ช่องปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง และลำไส้ใหญ่ วัณโรค เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายจากความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยเฉพาะในเพศชายจะเสี่ยงกว่าเพศหญิง ดังนั้น การป้องกันโรคต่าง งานวิจัยจึงแนะนำว่า การไม่ดื่มเลยจะดีที่สุด

การออกไกด์ไลน์ว่า ดื่มวันละดริงก์ดีต่อสุขภาพ หรือไม่เกิดโทษต่อร่างกาย จึงไม่ใช่เรื่องจริงอีกต่อไป แล้วประเทศไทยมีการออกคำแนะนำอะไรบ้าง ก็ต้องบอกว่า ประเทศไทยล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะมีการออกคำแนะนำมาตั้งแต่ปี 2560 โดยระบุชัดว่า กลุ่มคนไหนบ้างที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 10 “สิบปี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 : ประเทศไทยได้อะไร” ว่า จากการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ในที่สุดเมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่

1.เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรไปแตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย แต่ที่ผ่านมามักมีการคิดว่าพอโตแล้วอายุประมาณ 15-16 ปี ก็สามารถดื่มได้ เพราะคงไม่มีผลกระทบต่อสมองเหมือนกับเด็กเล็กแล้ว แต่ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่าไม่ใช่ สมองของเรายังไม่โตเต็มที่ ซึ่งจะโตเต็มที่เมื่ออายุเลย 20 ปีไปแล้ว หรือแม้จะเลย20 ปีไปแล้วแต่ก็ยังมีบางจุดที่โตได้อีก ซึ่งสมองมี 2-3 ส่วนที่สำคัญ คือ ส่วนอารมณ์ ตรงนี้จะโตเร็ว ทำหน้าที่รับรู้เรื่องอารมณ์ได้ดี แต่ส่วนที่ยับยั้งชั่งใจ ประมวลผล ควรทำไม่ควรทำ จะค่อยๆ โต การที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะทำลายสมอง ทำลายส่วนที่จะแยกแยะถูกผิดไม่ควรทำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจร ทะเลาะวิวาท ข่มขืน มีเพศสัมพันธ์ ก็ต้องพยายามเชียร์ว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ตามกฎหมายของเรา ไม่ควรจะดื่มแอลกอฮอล์

2.หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมลูกด้วยนมแม่ เพราะมีผลอันตรายต่อทารก ซึ่งทุกคนทราบดีว่าแอลกอฮอล์ทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ โดยเฉพาะสมองของเด็ก รวมถึงคลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร เจริญเติบโตผิดปกติ

3.ผู้มีอาชีพขับรถและทำงานกับเครื่องจักรกล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ต้องไม่ใช่แค่ว่า “เมาไม่ขับ” แต่ต้องเป็นว่า “ดื่มไม่ขับ” และเมื่อดื่มแล้วจะต้องรอถึง 6 ชั่วโมง ถึงจะกลับมาขับรถได้ อย่างที่เคยมีกรณีเกิดขึ้นคือสายการบินของญี่ปุ่นที่มีการดีเลย์จำนวนมาก ปรากฏว่าเกิดจากการที่นักบินไม่อยู่ในสภาพที่จะบังคับเครื่องบิน เพราะว่าดื่ม และมีระดับแอลกอฮอล์สูง ก็ต้องเปลี่ยนนักบิน รอนักบินรุ่นใหม่มา เครื่องจึงดีเลย์ แต่คนขับรถบ้านเราที่ไม่อยู่ในสภาพที่ขับรถมีจำนวนมหาศาลแต่ยังขับรถออกบนท้องถนน อันตรายกว่านักบินเสียอีก ซึ่งอุบัติเหตุจราจรประเทศไทยตายปีละ 22,000 คน หรือ 60 คนต่อวัน ซึ่ง 1 ใน 5 เกิดจากการดื่มสุรา โดยคนที่เจ็บป่วยมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดอยู่ แต่ช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ จะไม่ใช่ 1 ใน 5 แต่กระโดดไปถึง 50% การมีลานเบียร์ โปรโมตให้ดื่มในช่วงเทศกาล เป็นการสนับสนุนให้เรามีตัวเลขการตายจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้คนตายมากขึ้น

4.ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคประจำตัว เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง โรคทางจิต ความดันโลหิต เบาหวาน ฯลฯ ไม่ควรดื่มทั้งนั้น เพียงแต่เราไปโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ไม่เคยบอกว่า ไม่ควรจะดื่ม แต่ก็แค่จ่ายยาไป

และ 5.ประชาชนทั่วไปทุกเพศทุกวัยที่ไม่ได้ดื่มอยู่แล้ว เป็นแนวปฏิบัติที่ปลอดภัยที่สุดต่อสุขภาพ ครอบครัว และสังคม ซึ่งข้อนี้เดิมทีมีการถกเถียงกันมาก แต่สุดท้ายกระทรวงสาธารณสุขประกาศจุดยืนออกมา นับว่ากระทรวงสาธารณสุขไทยก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะการศึกษาเพิ่งออกในวารสาร Lancet เมื่อประมาณ 2-3 เดือน แต่ของเราออกมาเป็นปีที่ 2 แล้ว

“ประกาศนี้จะต้องเชียร์ให้ทุกการประชุมพูดถึงมากๆ สื่อสารออกไปเยอะๆ ว่า บุคคลทั้ง 5 กลุ่มนี้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย ซึ่งจะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพที่สุด” นพ.คำนวณ กล่าว

แล้วคุณล่ะ ยังคิดจะดื่มอยู่อีกหรือเปล่า!?

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน