จากภาพ คุณคิดว่าวิวนี้สวยแค่ไหน?…

คงน่าเสียดายหากสายตาของคุณพร่ามัวจนไม่สามารถมองเห็นความงดงามของแสงไฟในเมืองยามค่ำคืนได้แบบชัดๆ ด้วยตาของตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ถ้าคุณเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังตามใจปากจนลำบากสายตา ไม่รักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า “ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) แล้วภาวะนี้มีลักษณะอย่างไร? …เราไปทำความรู้จักกันค่ะ

สาเหตุเกิดจากอะไร?

เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ผนังหลอดเลือดฝอยในจอประสาทตาจะเสื่อมลง ทำให้เลือดและสารต่างๆ รั่วซึมออกมาจนตาขาดเลือด กลไกของร่างกายจะสั่งให้งอกเส้นเลือดใหม่ซึ่งเปราะแตกง่าย ส่งผลให้เลือดออกในตาและเกิดพังผืดรั้งจอตาได้

ภาวะนี้มีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาจะมีจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ในดวงตา การมองเห็นเริ่มพร่ามัว หากมีอาการรุนแรงขึ้น อาจมองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ แยกแยะสียากขึ้น มีเส้นเลือดฝอยเป็นร่างแหคล้ายพัดหรือแถบพังผืนปกคลุมที่จอตา และอาจสูญเสียการมองเห็นได้

ใครเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค?

ผู้ที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน และยังมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนปกติถึง 20 เท่า ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นอกจากจะช่วยป้องกันตาบอด ยังทำให้รู้เบื้องต้นได้ว่าเส้นเลือดในอวัยวะอื่นก็น่าจะเกิดความผิดปกติด้วยเช่นกัน จึงสามารถรักษาอวัยวะอื่นๆ ไปพร้อมกันได้

มีวิธีรักษาอย่างไร?

ในปัจจุบัน เราสามารถทำให้โรคไม่รุนแรงขึ้นได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาไปแล้ว จะมีแนวทางการรักษาดังนี้

  1. การรักษาด้วยเลเซอร์

จะช่วยรักษาได้หลายกรณี เช่น ปิดเส้นเลือดที่รั่วซึมในจอประสาทตา ลดโอกาสการสร้างพังผืดที่จอประสาทตาและการเกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งข้อดีก็คือ ไม่เจ็บปวด ไม่มีแผลภายนอก หลังการรักษาสามารถกลับบ้านและล้างหน้าได้ตามปกติ แต่อาจต้องเข้ารับการรักษามากกว่า 1 ครั้ง

2. การรักษาด้วยยา

จะมีการฉีดยาเข้าวุ้นตาเพื่อลดรอยรั่วของหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลง วิธีนี้ได้ผลค่อนข้างดีแต่ต้องฉีดซ้ำเป็นระยะ นอกจากนั้นยาที่ใช้จะเป็นสเตียรอยด์ซึ่งอาจทำให้เกิดต้อกระจกและต้อหินในผู้ป่วยบางรายได้

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาและถูกดูดซึมไม่หมด หรือจอตาลอกจากการถูกพังผืดดึงรั้ง อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อไม่ให้โรคลุกลามและซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม

แม้ในปัจจุบันจะมีวิธีรักษาที่หลากหลาย แต่ก็ทำได้เพียงป้องกันการลุกลาม ยังไม่มีวิธีไหนที่สามารถรักษาความผิดปกติที่เกิดจากโรคให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติเหมือนเดิมได้ ดังนั้นหากคุณหรือคนใกล้ตัวมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แนะนำให้รีบเข้ามาปรึกษาและตรวจวินิจฉัยกับจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ที่ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลธนบุรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน