ปัจจุบันคนเรารับข้อมูลข่าวสารกันอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน นั่นเพราะความสะดวกจากเทคโนโลยีที่เอื้อให้เข้าถึงข้อมูลและข่าวสารมากขึ้น แม้ตอนเดินทางไปทำงาน อยู่บนรถไฟฟ้า รอรถเมล์ หรือตอนเข้าห้องน้ำในออฟฟิศ

นอกจากการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจะสังเกตได้ว่ามีทั้งข้อมูลจริง ข่าวลือ ข่าวปลอม ทำให้สังคมเกิดความสับสนและเชื่ออย่างสนิทใจ ดังนั้นเพื่อเป็นการจัดการกับปัญหาข่าวลวง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงร่วมมือกับ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย (Thai PBS) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ “International Conference on Fake News” เพื่อรับมือกับปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ภายใต้ “ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม”

เรื่อง Public Policy in Handling Mis/Disinformation in Digital Era หรือ นโยบายสาธารณะกับการจัดการข่าวลือ-ข่าวลวง ในยุคดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาคุยกัน โดย ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า สสส. พยายามสร้างพื้นที่สื่อดี สื่อสร้างสรรค์ สนับสนุนรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งเป็นรายการที่เฉลยความจริงในมิติสุขภาพจากข่าวออนไลน์ที่ถูกส่งต่อกันในวงกว้าง สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ขาดการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ขาดการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล ขาดการตรวจสอบว่าเรื่องราวนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงความคิดเห็น

“สสส. ดำเนินโครงการ ‘สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม’ ที่มองว่าความจริงในสังคมมีทั้งด้านมืดและด้านดี เด็กต้องรู้เท่าทันทุกด้านทุกมุมถึงเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น คำหยาบคาย การใช้ความรุนแรง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เพศสัมพันธ์ ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ ม.จุฬาฯ และ ม.ธรรมศาสตร์ เป็น 2 ใน 8 เครือข่ายร่วมต่อต้าน Fake News เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนสำคัญในการผลิตนักศึกษาที่จะเป็นบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนที่มีจริยธรรม มีส่วนยับยั้งหรือลดทอนความรุนแรงจากข่าวลวงข่าวปลอมในอนาคต Fake News ไม่สร้างความแตกแยกในมิติทางการเมืองเท่านั้น ในมิติสุขภาพก็เกิดความรุนแรงไม่ต่างกัน เพราะการเข้าไม่ถึงข้อมูลสุขภาพอย่างถูกต้องก็เป็นต้นตอของการทำลายระบบนิเวศสุขภาพในองค์รวม สสส. จึงมีนโยบาย Health for all เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียม แม้จะมีสถานะทางการเงินหรือการศึกษาอย่างไรก็ตาม” ดร.จิรพร กล่าว

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต่าง ๆ กล่าวว่า ข่าวลวงที่ถูกแชร์กันเป็นจำนวนมากอันดับ 1 คือเรื่องการเมือง เพราะคนมีอุดมคติและความชอบที่ต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง Hate speech ได้ง่าย และอันดับ 2 คือ เรื่องยาและการป้องกันโรค เช่น น้ำมะนาวรักษาโรค บัตรพลังงานรักษาโรค ให้รีบเจาะนิ้วมือให้เลือดไหลเมื่อเส้นเลือดในสมองแตก เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการระบบในการตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้สื่อมีพฤติกรรมอยากแชร์และส่งต่อในวงกว้างเพราะอยากเป็นคนแรกที่รู้เรื่องก่อนใคร อยากให้มีคนสนับสนุนความคิด และด้วยความปรารถนาดีอยากเตือนคนใกล้ตัวจริง ๆ

ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กล่าวว่า Thai PBS มีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลสาธารณะอย่างเที่ยงตรง มีนโยบายตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องถี่ถ้วนก่อนเผยแพร่ตามหลักจริยธรรม ดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

รศ.ดร.วิลาสินี เสนอว่า 1. ควรมีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อมาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารโดยตรง หรือ Organization third party fact checking ที่โปร่งใส เปิดเผย ไม่อยู่ภายใต้กำกับของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สามารถตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องได้ทันสถานการณ์ ทำงานร่วมกับภาควิชาการพร้อมรายงานผลงานต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 2. องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในการจัดการข้อมูลสื่อ ซึ่งในส่วนนี้ Thai PBS และอีก 7 องค์กร เริ่มผนึกกำลังประกาศปฏิญญานำร่องแล้ว และ 3. สร้างประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ผลิตเนื้อหาที่ส่งเสริมการรู้เท่าทัน นำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกต้องมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไว้ว่า ในไต้หวันนักข่าวมีหน้าที่ค้นหาความจริง ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สร้างความปลอดภัยในการสื่อสาร มีศูนย์ตรวจสอบความร่วมมือผ่านแอปพลิเคชั่น LINE เมื่อมี Fake News ทุกกระทรวงจะต้องรีบชี้แจงภายใน 1 ชั่วโมง ภาครัฐมีการจัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าด้วยการให้ความรู้ผ่านทีวีซีรี่ส์ ตั้งแต่ระดับอนุบาล รวมถึงมีกฎหมายด้านการบริจาคเงินต้องโปร่งใส โดยเฉพาะการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง

Fake News หรือ Hate Speech ที่สร้างความแตกแยก ความเกลียดชัง และความสับสนไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากคำพูดปากต่อปาก หรือการส่งอีเมลต่อ ๆ กัน ยกเอาไปไว้บนโลกเสมือนจริงที่เรียกว่าสังคมออนไลน์ ผ่านการแชร์ และการแสดงความคิดเห็นที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน